Transport

ส่องสถานะรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง กระจายเจริญสู่ภูมิภาค

“รฟท.” อัปเดตสถานะโปรเจ็กท์โครงการรถไฟความเร็วสูงจำนวน 4 เส้นทาง ระยะทาง 1,044 กม. วงเงินลงทุนรวม 660,604 ล้านบาท ยกระดับระบบรางไทย สู่การเป็นศูนย์กลางระบบรางของภูมิภาค

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ระบุว่า ได้ดำเนินการยกระดับระบบรางไทย สู่การเป็นศูนย์กลางระบบรางของภูมิภาค ด้วยการดำเนินแผนการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงจำนวน 4 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,044 กม. วงเงินลงทุนรวม 660,604 ล้านบาท ปัจจุบันมีความคืบหน้าดังรายละเอียดต่อไปนี้

รถไฟความเร็วสูง ระยะเร่งด่วน ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย (รถไฟไทย-จีน ระยะที่2) ระยะทาง 355 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 226,340 ล้านบาท ปัจจุบันออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติโครงการ คาดว่าจะเปิดบริการปี 2572

รูปแบบโครงสร้างเป็นระดับพื้นดินและยกระดับ จำนวน 5 สถานี ขนาดรางความกว้าง 1.435 เมตร ความเร็วในการให้บริการ 200-250 กม./ชม. ออกเดินรถทุก 90 นาที ใช้ระยะเวลาเดินทาง 2 ชม. 10 นาที ช่วงเวลาให้บริการ 06.00-24.00 น. ค่าโดยสาร 234-730 บาท จำนวนผู้โดยสาร 21,160 คน/วัน

รถไฟความเร็วสูง ระยะกลาง ช่วงกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 211 กม. วงเงินลงทุน 100,125 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างของบประมาณปี 2567 เพื่อทบทวนผลการศึกษาเดิม คาดว่าจะเปิดบริการปี 2575

รูปแบบโครงสร้างเป็นระดับพื้นดินและยกระดับ จำนวน 5 สถานี ขนาดรางความกว้าง 1.435 เมตร ความเร็วในการให้บริการ 200-250 กม./ชม. ออกเดินรถทุก 90 นาที ใช้ระยะเวลาเดินทาง 1 ชม. 17 นาที ช่วงเวลาให้บริการ 06.00-24.00 น. ค่าโดยสาร 385-1,044 บาท จำนวนผู้โดยสาร 10,094 คน/วัน

รถไฟความเร็วสูง ระยะกลาง ช่วงระยอง-จันทบุรี-ตราด ระยะทาง 190 กม. วงเงินลงทุน 101,728 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างทบทวนรายงานผลการศึกษาความเหมาะสม คาดเปิดบริการปี 2571

รูปแบบโครงสร้างเป็นระดับพื้นดินและยกระดับ จำนวน 4 สถานี ขนาดรางความกว้าง 1.435 เมตร ความเร็วในการให้บริการ 250 กม./ชม. ใช้ระยะเวลาเดินทาง 64 นาที ช่วงเวลาให้บริการ 06.00-24.00 น. ค่าโดยสาร 95 บาทค่าแลกเข้า จากนั้น +2.1 บาท/กม. ในปี 2571 จำนวนผู้โดยสาร 7,429 คน-เที่ยว/วัน ในปี 2571 และเพิ่มเป็น 19,575 คน-เที่ยว/วัน ในปี 2601

รถไฟความเร็วสูง ระยะกลาง ช่วงพิษณุโลก-เชียงใหม่ ระยะทาง 288 กม. วงเงินลงทุน 232,411 ล้านบาท ปัจจุบัน คาดเปิดบริการปี 2572

รูปแบบโครงสร้างเป็นระดับพื้นดินและยกระดับ จำนวน 5 สถานี ขนาดรางความกว้าง 1.435 เมตร ความเร็วในการให้บริการ 200-250 กม./ชม. ออกเดินรถทุก 90 นาที ใช้ระยะเวลาเดินทาง 55 นาที ช่วงเวลาให้บริการ 06.00-24.00 น. ค่าโดยสาร 385-1,044 บาท จำนวนผู้โดยสารอยู่ระหว่างทบทวนรายงานผลการศึกษาความเหมาะสม

รฟท. ได้ดำเนินการพัฒนารถไฟความเร็วสูง เพื่อเป้าหมายในการพัฒนาการเดินทางระหว่างภูมิภาคที่สะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย และตรงต่อเวลา ส่งเสริมการกระจายความเจริญไปสู่เมืองในภูมิภาค พร้อมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเชื่อมโยงตลาดการค้าระหว่างกลุ่มประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง เนื่องจากไทยถือเป็นศูนย์กลางของอินโดจีน โดยมีเป้าหมายในการก่อสร้างให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ รวม 4 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางสายเหนือ สายตะวันออก สายตะวันออกเฉียงเหนือ และสายใต้ ซึ่งมีแผนการดำเนินงานแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว

อ่านแบบ e-book ได้ที่ https://fliphtml5.com/ctvfc/muir/

ดาวน์โหลดไฟล์ PDF ได้ที่ https://online.fliphtml5.com/ctvfc/muir/

Loading

Back to top button