อวดโฉมใหม่ “สถานีรถไฟปากช่อง” แลนด์มาร์กใหม่ @โคราช
“สถานีรถไฟปากช่อง” ปรับปรุงใหม่โครงการรถไฟทางคู่สายอีสาน (มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ) ดันเป็นแลนด์มาร์กใหม่ @โคราช สถานีขนาดใหญ่ เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก คู่ขนานการออกแบบรองรับคนทุกกลุ่ม
ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ระบุว่า ขอนำเสนอ อีกหนึ่ง สถานีแลนด์มาร์ก (Landmark) ของโครงการรถทางคู่ สายอีสาน ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ได้แก่ สถานีปากช่อง ซึ่งสถานีปากช่อง เป็นสถานีขนาดใหญ่ หนึ่งในสถานีที่สำคัญของเส้นทางรถไฟสายอีสาน ที่เชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และ อุทยานธรณีโคราช (Khorat Geopark) ซึ่งทั้ง 2 ส่วนได้รับการรับรองจาก UNESCO ในความสำคัญด้านชีววิทยา และ ธรณีวิทยา
นอกจากนี้มีสิ่งอำนวยความสะดวกภายในสถานีปากช่อง พื้นที่จำหน่ายตั๋วรถไฟ และ พื้นที่รอคอยโดยสาร มีขนาดใหญ่ รองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 200 คน ลิฟต์ให้บริการผู้โดยสาร ทั้งในส่วนภายในอาคารสถานี และการเข้าถึงชานชาลา รองรับผู้โดยสารทุกกลุ่ม มีชานชาลารถไฟเพื่อรองรับการให้บริการถึง 4 ชานชาลา พร้อมกับการยกระดับเป็นชานชาลาสูง เท่าระดับพื้นตัวรถ เพื่อความสะดวกในการเข้า-ออก พร้อมพื้นที่จอดรถ มากกว่า 50 คัน โดยการออกแบบตัวอาคาร เป็นการนำรูปแบบของศิลปะในท้องถิ่น มาประยุกต์ในการออกแบบอาคาร ให้สอดคล้องกับพื้นที่ และการใช้งานของสถานี
สำหรับขบวนที่ให้บริการผ่านสถานีปากช่อง ได้แก่
ขบวน 23/24 รถด่วนพิเศษ กรุงเทพอภิวัฒน์-อุบลราชธานี-กรุงเทพอภิวัฒน์
ขบวน 141/142 รถเร็ว กรุงเทพอภิวัฒน์-อุบลราชธานี-กรุงเทพอภิวัฒน์
ขบวน 431/432 รถท้องถิ่น แก่งคอย-ขอนแก่น-แก่งคอย
ขบวน 21/22 รถด่วนพิเศษ กรุงเทพอภิวัฒน์-อุบลราชธานี-กรุงเทพอภิวัฒน์
ขบวน 135/136 รถเร็ว กรุงเทพอภิวัฒน์-อุบลราชธานี-กรุงเทพอภิวัฒน์
ขบวน 71/72 รถด่วนดีเซลราง กรุงเทพอภิวัฒน์-อุบลราชธานี-กรุงเทพอภิวัฒน์
ขบวน 233/234 รถธรรมดา กรุงเทพอภิวัฒน์-สุรินทร์-กรุงเทพอภิวัฒน์
ขบวน 139/140 รถเร็ว กรุงเทพอภิวัฒน์-อุบลราชธานี-กรุงเทพอภิวัฒน์
ซึ่งในขบวนด่วนพิเศษ ใช้เวลา จาก สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ ถึง สถานีปากช่อง เพียง 3 ชั่วโมง!!! เป็นทางเลือกในการเดินทางผู้โดยสารในการท่องเที่ยวด้วยระบบราง ในอนาคต รฟท. หวังอย่างยิ่งว่า สถานีรถไฟปากช่อง จะเป็นอีกหนึ่ง Landmark ในการเดินทางเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจในท้องถิ่น