“คมนาคม” ลุยตรวจสอบการทำงานด่านน้ำหนักอยุธยา เคลียร์ปมสติกเกอร์ส่วยรถบรรทุก
“คมนาคม” ลงพื้นที่ตรวจสอบการทำงานด่านน้ำหนักอยุธยา ยืนยันความโปร่งใสการกระทำผิดสติกเกอร์ส่วยรถบรรทุก พร้อมนำทุกประเด็นตรวจสอบข้อเท็จจริง หากพบหน่วยงาน-เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง พร้อมทำตามระเบียบและกฎหมายโดยไม่มีข้อยกเว้นต่อไป
วันนี้ (7 มิ.ย.2566) นายมนตรี เดชาสกุลสม ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม (คค.) ในฐานะประธานคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการติดสินบนเจ้าหน้าที่โดยการติดสติกเกอร์บนรถบรรทุก พร้อมด้วยคณะทำงานฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบขั้นตอนการดำเนินงานของสถานีตรวจสอบน้ำหนักอยุธยา (ขาเข้า) ทางหลวงหมายเลข 347
ตามที่ นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการติดสินบนเจ้าหน้าที่โดยการติดสติกเกอร์บนรถบรรทุกได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการติดสินบนเจ้าหน้าที่โดยการติดสติกเกอร์บนรถบรรทุก เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า กรณีดังกล่าวมีข้อมูลเป็นความจริงหรือไม่ เกี่ยวข้องกับหน่วยงานใด โดยให้รวบรวมข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งลักษณะ รูปแบบ พฤติการณ์ในรายละเอียด และรายงานผลการดำเนินงานให้คณะกรรมการฯ ทราบ
สำหรับการลงพื้นที่ครั้งนี้ เพื่อตรวจสอบขั้นตอนการดำเนินงานและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ประจำสถานี ระบบตรวจสอบน้ำหนักที่ใช้กับสถานี รวมถึงการทำงานของเครื่องตรวจสอบน้ำหนักเคลื่อนที่ (Spot Check) ณ สถานีตรวจสอบน้ำหนักอยุธยา (ขาเข้า) เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว ซึ่งจากการลงพื้นที่พบว่า สถานีตรวจสอบน้ำหนักอยุธยา (ขาเข้า) กำกับ ดูแล โดยสำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ (สคน.) กรมทางหลวง (ทล.) มีเจ้าหน้าที่ประจำสถานีปฏิบัติงาน จำนวน 13 คน มีการสับเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ประจำสถานีตรวจสอบน้ำหนักทุก 8 เดือน และ 1 ปี สลับกันปฏิบัติหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง
ตรวจสอบน้ำหนักรถบรรทุกโดยใช้เทคโนโลยีระบบตรวจสอบน้ำหนักยานพาหนะเคลื่อนที่ (WIM) ที่ติดตั้งก่อนถึงสถานีตรวจสอบน้ำหนักไม่เกิน 1 กิโลเมตร เพื่อเป็นระบบคัดแยกประเภทรถและน้ำหนักอัตโนมัติ โดยมีซอฟท์แวร์ทำงานร่วมกับอุปกรณ์เซนเซอร์ที่ติดตั้งไว้บนพื้นถนน เมื่อระบบ WIM ตรวจพบรถบรรทุกที่อาจมีน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนด ป้ายที่ระบบ WIM จะขึ้นข้อความ “เข้าชั่ง” และต้องเข้าชั่งน้ำหนักที่สถานี แต่หากน้ำหนักไม่เกิน ป้ายที่ระบบ WIM จะขึ้นข้อความ “ผ่านได้” ซึ่งทุกขั้นตอนของการทำงานระบบ WIM เป็นระบบอัตโนมัติทั้งหมด
จากนั้นระบบจะรายงานข้อมูลน้ำหนักรถบรรทุกทุกคันที่วิ่งผ่านโดยแจ้งข้อมูลแบบ Real Time มาที่สถานี และศูนย์ควบคุมส่วนกลาง ส่วนหน่วยตรวจสอบน้ำหนักเคลื่อนที่ (Spot Check) จะทำหน้าที่ออกสุ่มตรวจสอบรถบรรทุก ทั้งเส้นทางหลัก สายรอง เส้นทางที่ไม่มีสถานี เส้นทางที่มีการหลบเลี่ยงสถานี และตามข้อร้องเรียนในพื้นที่ความรับผิดชอบบริเวณในโครงข่ายที่สถานีตั้งอยู่ โดยเครื่องตรวจสอบน้ำหนักเคลื่อนที่จะมีการสอบเทียบกับสำนักงานกลางชั่งตวงวัด กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เพื่อทำให้การควบคุมน้ำหนักรถบรรทุกมีประสิทธิภาพได้มาตรฐาน สำหรับรถที่มีน้ำหนักเกินจะถูกจับกุมเพื่อส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีต่อไป
อย่างไรก็ดี คณะทำงานฯ พบว่า ปัจจุบันกรมทางหลวงมีสถานีตรวจสอบน้ำหนัก 97 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นระบบ WIM 37 แห่ง นอกจากนี้ อยู่ระหว่างการก่อสร้างสถานีตรวจสอบน้ำหนัก 16 แห่ง และมีแผนที่จะก่อสร้างให้ครบทั้งสิ้น 128 แห่ง กรมทางหลวงชนบท มีสถานีตรวจสอบน้ำหนักทั้งสิ้น 5 แห่ง ส่วนหน่วยตรวจสอบน้ำหนักเคลื่อนที่ (Spot Check) กรมทางหลวง มีจำนวน 97 ทีม ส่วนกลาง 12 ทีม รวมเป็น 109 ทีม
ทั้งนี้ คณะทำงานฯ จะนำข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่ครั้งนี้ไปประมวลผล เพื่อนำเสนอกระทรวงคมนาคมจัดทำแผนปรับปรุงพัฒนาระบบต่อไปในอนาคต รวมถึงเร่งตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทุกระดับว่ามีความเกี่ยวข้องกับกรณีการติดสินบนเจ้าหน้าที่โดยการติดสติกเกอร์บนรถบรรทุกหรือไม่
กระทรวงฯ ขอยืนยันว่าจะดำเนินการทุกขั้นตอนด้วยความโปร่งใส ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย รวมถึงตรวจสอบในทุกประเด็นเพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อเท็จจริงและเชื่อมั่นในการดำเนินการของกระทรวงฯ และหากผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่าหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้อง กระทรวงฯ จะดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายโดยไม่มีข้อยกเว้นต่อไป