“สบพ.” เดินหน้างานประชุมวิชาการด้านการบินระดับชาติ ครั้ง 3 หนุนอุตสาหกรรมการบิน
“สบพ.” จัดงานประชุมวิชาการด้านการบินระดับชาติ ครั้งที่ 3 ส่งเสริมเผยแพร่บทความสาขาวิชาต่าง ๆ ของนักศึกษา พนักงาน และบุคคลทั่วไปสู่สาธารณชนด้านอุตสาหกรรมการบิน
สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) รัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ได้จัดงานประชุมวิชาการด้านการบินระดับชาติ ครั้งที่ 3 โดยมี น.ส.ภัคณัฏฐ์ มากช่วย ผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน เป็นประธานในพิธี เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2566 ณ ห้องประชุมนานาชาติ ชั้น 2 สถาบันการบินพลเรือน กรุงเทพฯ
การจัดกิจกรรมโครงการประชุมวิชาการ สบพ. ครั้งนี้ เป็นกิจกรรมที่มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เผยแพร่บทความในสาขาวิชาต่าง ๆ ของนักศึกษา พนักงาน และบุคคลทั่วไปสู่สาธารณชนด้านอุตสาหกรรมการบินและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง อาทิ ด้านธุรกิจการบิน ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้านการท่องเที่ยว ด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี ด้านวิศวกรรมการบิน ด้านการศึกษากระบวนการจัดการเรียนรู้ การเรียนการสอนด้านโลจิสติกส์การบิน และด้านอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม สบพ. เป็นหน่วยงานที่ผลิตบุคลากรด้านการบินมาเป็นระยะเวลา 62 ปี จึงเป็นหน่วยงานกลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารการวิจัยที่มีการปรับปรุงล่าสุด ระหว่าง นักศึกษา พนักงาน หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานเอกชน รวมถึงเครือข่ายพันธมิตรทางด้านการบินและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งผลงานวิชาการดังกล่าวสามารถนำไปต่อยอดในการพัฒนาหลักสูตร การจัดเรียนการสอน และการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อย่างยั่งยืน
สำหรับกิจกรรมหลักในครั้งนี้ คือ ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ได้นำเสนอผลงานทางวิชาการสู่สาธารณชน และสร้างความร่วมมือทางด้านการวิจัยระหว่างมหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐและเอกชน อันจะนำไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการใหม่ ซึ่งเป็นเป้าหมายอันสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรม รวมทั้งส่งเสริมให้ธุรกิจของประเทศมีความเข้มแข็ง และยังมีกิจกรรมการตอบคำถาม เพื่อร่วมสนุกและชิงรางวัลจากคณะผู้จัดงานอีกด้วย ซึ่งนับได้ว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนางานวิจัยด้านการบินและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ผู้นำเสนอผลงานยังได้รับพิจารณารางวัลดีเด่น ประกอบด้วย บทความวิชาการดีเด่น บทความวิจัยดีเด่น และผู้นำเสนอผลงานดีเด่น โดย น.ส.ภัคณัฏฐ์ มากช่วย ผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน ได้เป็นประธานในพิธีปิด พร้อมทั้งมอบเกียรติบัตร และมอบโล่รางวัลดีเด่นแก่ผู้วิจัยที่นำเสนอผลงานวิจัยที่โดดเด่นและสามารถนำผลการวิจัยไปประยุกต์ใช้ในงานอุตสาหกรรมการบินได้อย่างแท้จริงและยั่งยืนต่อไป