Logistic

เดินหน้า! พัฒนาบุคลากรถ่ายทอดเทคโนโลยีสื่อสารอุตสาหกรรมระบบรางไทย

“คมนาคม” เป็นพยาน MOU ความร่วมมือเพื่อพัฒนาบุคลากรและถ่ายทอดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสำหรับอุตสาหกรรมระบบรางไทย

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม (คค.) เป็นประธานและสักชีพยานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง ความร่วมมือ (MOU) “เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาบุคลากรและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสำหรับอุตสาหกรรมระบบราง” ระหว่าง สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) โดยนายสันติ เจริญพรพัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) และบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด โดย Mr. Kevin Cheng, President of Huawei Enterprise Thailand เมื่อวันที่ 5 ก.ค.2566 ณ สำนักงานใหญ่ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด

นายชยธรรม์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในช่วงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางรางครั้งใหญ่ในรอบหลายทศวรรษ อาทิ การขยายเส้นทางโครงข่ายรถไฟทางคู่ การพัฒนาโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูง ตลอดจนการปรับปรุงระบบอุปกรณ์และโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางราง ซึ่งล้วนแต่เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศในอนาคต ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองในด้านเทคโนโลยีระบบราง จึงมีความจำเป็นในการพัฒนาองค์ประกอบสำคัญในระบบนิเวศของอุตสาหกรรมระบบรางในด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยี ด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ด้านระบบมาตรฐานและการทดสอบ และด้านพัฒนากำลังคนเฉพาะทางที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม

จากเป้าหมายดังกล่าว รัฐบาลจึงได้จัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) หรือ สทร. ภายใต้กระทรวงคมนาคม เพื่อเป็นสถาบันหลักด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง บูรณาการความเชี่ยวชาญและทรัพยากรจากทุกภาคส่วน เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและสร้างอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศ โดยมีพันธกิจที่สำคัญหลายประการ เช่น การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การพัฒนาบุคลากร และเป็นศูนย์กลางในการรับแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบรางของประเทศและภูมิภาค เป็นต้น

การลงนามความร่วมมือระหว่าง สทร. และบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการเตรียมความพร้อมและสร้างบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารชั้นสูงสำหรับอุตสาหกรรมระบบราง รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและระบบเทคโนโลยีอัจฉริยะต่าง ๆ เพื่อนำมาปรับใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริหารจัดการด้านคมนาคมขนส่งทางรางให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ผลักดันประเทศไปสู่การบรรลุเป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580)

บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายและโทรคมนาคม และผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology: ICT) และอุปกรณ์อัจฉริยะชั้นนำระดับโลก ด้วยองค์ความรู้ ประสบการณ์ โครงสร้างพื้นฐานที่มีในปัจจุบัน รากฐานของธุรกิจ ICT รวมถึงความตั้งมั่นในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมด้วยการพัฒนาบุคลากรและการฝึกอบรม บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด จึงเป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศไทยผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Transfer) และการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยี ICT สำหรับอุตสาหกรรมระบบราง

โดยการจัดฝึกอบรมหลักสูตรเพื่อพัฒนาทักษะและความรู้ให้กับผู้ที่ทำงานในระบราง (Reskill Training) และหลักสูตรเทคโนโลยี ICT ขั้นสูง สำหรับผู้ที่จะเข้าสู่การประกอบอาชีพในระบบรางในอนาคต (Advanced Technical Training) รวมถึงการร่วมวิจัยและพัฒนาระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (Automation and Robotics) เพื่อการขนถ่ายและกระจายสินค้าในระบบราง

Loading

Back to top button