Transport

เข้าพื้นที่! อัพเกรดถนน 4 เลน สาย ชบ.3023 @ชลบุรี

“กรมทางหลวงชนบท” ลุยสร้าง 4 เลน ถนนสาย ชบ.3023 อ.พานทอง, บ้านบึง จ.ชลบุรี 12 กม. งบฯ 879 ล้านบาท คาดปิดจ๊อบปี 68 พร้อมฟังเสียงคนในพื้นที่ก่อนดำเนินการโครงการ ช่วยรองรับการขยายตัวของเมืองและเศรษฐกิจในอนาคต

กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ระบุว่า เริ่มเข้าพื้นที่ดำเนินโครงการก่อสร้างถนนทางหลวงชนบทสาย ชบ.3023 แยก ทล.315-บ้านหนองปลาไหล อ.พานทอง, บ้านบึง จ.ชลบุรี เพื่อเพิ่มศักยภาพโครงข่ายโลจิสติกส์ให้สมบูรณ์อย่างเป็นระบบ ลดปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณคอขวด รองรับการขยายตัวของเมืองและเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2568 ต่อไป

ถนนทางหลวงชนบทสาย ชบ.3023 แยก ทล.315-บ้านหนองปลาไหล อ.พานทอง, บ้านบึง จ.ชลบุรี เป็นเส้นทางหลักที่ประชาชนใช้สัญจรจากอำเภอบ้านบึงไปยังอำเภอพานทอง ทั้งยังสามารถเดินทางเชื่อมไปยังทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 ผ่าน ทล.315 และเป็นเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่

ซึ่งสภาพถนนปัจจุบันส่วนใหญ่ มีขนาด 2 ช่องจราจร และบริเวณช่วง กม.ที่ 0+084 ถึง กม.ที่ 0+150 มีลักษณะช่องแคบเป็นคอขวด ผิวจราจรกว้าง 6 เมตร ไม่มีไหล่ทาง ส่งผลให้การจราจรเกิดความแออัดและติดขัดในช่วงเร่งด่วน ในขณะที่ถนน ช่วงบริเวณจุดสิ้นสุดโครงการ จะมีขนาด 4 ช่องจราจร

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณคอขวด รองรับปริมาณการจราจรในอนาคตที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคม สนับสนุนเศรษฐกิจการขนส่งและภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน

ทช. จึงได้ดำเนินโครงการก่อสร้างถนนสายดังกล่าวเป็นขนาด 4 ช่องจราจร รวมระยะทางดำเนินการ 12.242 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 879.800 ล้านบาท โดยจะก่อสร้างเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ช่วง กม.ที่ 0+000 ถึง กม.ที่ 9+200 กว้างช่องละ 3.5 เมตร ไหล่ทางกว้าง 2-3 เมตร ทางเท้ากว้างข้างละ 3.4-3.7 เมตร มีเกาะกลางถนนแบบคอนกรีตแบริเออร์

และมีการปรับปรุงถนนก่อสร้างเป็นผิวจราจรแบบแอสฟัลต์คอนกรีต ช่วง กม.ที่ 9+200 ถึง กม.ที่ 12+242 ความกว้างช่องละ 3.25-3.50 เมตร ไหล่ทางกว้างข้างละ 2-2.5 เมตร ทางเท้ากว้างข้างละ 3.70 เมตร มีเกาะกลางถนนแบบคอนกรีตแบริเออร์ รวมถึงจะมีการก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กข้ามคลอง 3 แห่ง มีการขยายสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก 1 แห่ง ก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้าม 3 แห่ง ก่อสร้างศาลาที่พักผู้โดยสาร 8 แห่ง และระบบระบายน้ำ ติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง เครื่องหมายจราจร สิ่งอำนวยความปลอดภัยอีกด้วย

นอกจากนี้ก่อนดำเนินการก่อสร้าง ทช. ได้จัดประชุมการมีส่วนร่วมภาคประชาชน และลงนามบันทึกความร่วมมือ 3 ฝ่าย (MOU) ระหว่าง ทช. ผู้รับจ้าง และผู้แทนประชาชน โดยมีการนำเสนอความเป็นมา ลักษณะของโครงการ ขั้นตอนการดำเนินงาน และรายงานผลการดำเนินงาน พร้อมทั้งได้มีการตอบข้อซักถาม รับฟังข้อเสนอแนะ ความคิดเห็นจากผู้นำชุมชน ประชาชน หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้งานสอดคล้องกับความต้องการ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ให้มากที่สุด

Loading

Back to top button