“กรมราง” สรุปจบโครงการออกใบอนุญาตด้านการขนส่งทางรางผ่านระบบดิจิทัล
“กรมราง” สรุปผลโครงการศึกษา ออกแบบ และพัฒนาระบบฐานข้อมูลผู้ประกอบการและการออกใบอนุญาตด้านการขนส่งทางรางผ่านระบบดิจิทัล (e-License R) เตรียมออกใบอนุญาตประกอบกิจการขนส่งทางราง ใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่ และการจดทะเบียนรถขนส่งทางราง ปัจจุบันไทยมีผู้ประกอบกิจการของรัฐ ผู้รับสัมปทานหรือสัญญา 8 ราย พนักงานขับรถไฟ 2,026 คน รถขนส่งทางราง 10,266 คัน
วันนี้ (28 ส.ค.2566) ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เป็นประธานเปิดงานสัมมนาโครงการศึกษา ออกแบบ และพัฒนาระบบฐานข้อมูลผู้ประกอบการและการออกใบอนุญาตด้านการขนส่งทางรางผ่านระบบดิจิทัล (e-License R) ครั้งที่ 3 เพื่อสรุปผลการดำเนินโครงการ และรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อนำไปประกอบการจัดทำใบอนุญาตการขนส่งทางราง โดยมีหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงานสัมมนา ณ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพฯ
ดร. พิเชฐฯ กล่าวว่า ปัจจุบันมีการลงทุนก่อสร้างรถไฟและรถไฟฟ้าในหลายเส้นทาง ซึ่งส่งผลให้จำนวนผู้ประกอบการด้านระบบรางเพิ่มมากขึ้น เพื่อกำกับดูแลให้ผู้ประกอบการทุกรายมีมาตรฐานเดียวกัน กรมการขนส่งทางรางจึงได้เตรียมความพร้อมในการออกใบอนุญาตประกอบกิจการขนส่งทางราง ใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่ และการจดทะเบียนรถขนส่งทางราง สอดคล้องตามร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. …. ซึ่งจะส่งผลดีทำให้เกิดความปลอดภัยในการใช้บริการระบบรางมากยิ่งขึ้น ผู้ใช้บริการระบบขนส่งทางรางมั่นใจได้ว่าผู้ประกอบการมีศักยภาพในการดำเนินการ บุคลากรของผู้ประกอบกิจการขนส่งทางรางมีคุณลักษณะและความรู้เหมาะสมต่อการเป็นผู้ประจำหน้าที่ และรถขนส่งทางรางมีสภาพพร้อมที่จะให้บริการขนส่งทางราง
ดร.พิเชฐฯ กล่าวต่อว่า ขร. ได้ดำเนินการรวบรวมสถิติโดยปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบกิจการของรัฐ ผู้รับสัมปทานหรือสัญญาจำนวน 8 ราย มีพนักงานขับรถไฟ/ประมาณ 2,026 คน มีรถขนส่งทางรางประมาณ 10,266 คัน ซึ่งตัวเลขจำนวนพนักงานขับและตัวรถนั้นไม่เพียงพอต่อการให้บริการในปัจจุบัน และในอนาคตจะยิ่งต้องการมากขึ้นอีก เพราะจะมีประชาชนให้มาใช้บริการมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการเพิ่มรถขนส่งทางรางและบุคลากร แต่เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้โดยสารและการกำกับดูแลระบบขนส่งทางรางให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน จึงจำเป็นต้องมีการออกใบอนุญาตประเภทต่างๆ ที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกำหนดมาตรฐานเบื้องต้นในระบบราง
ดร.พิเชฐ กล่าวต่อไปว่า ระบบฐานข้อมูลผู้ประกอบการและการออกใบอนุญาตด้านการขนส่งทางรางผ่านระบบดิจิทัล (e-License R) จะทำให้กรมสามารถรวบรวมฐานข้อมูลผู้ที่มีศักยภาพ รถที่มีมาตรฐาน และอนาคตเมื่อมีผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ก็สามารถมีบุคลากรหรือรถพร้อมทำงานในระบบราง และการออกใบอนุญาตขนส่งทางรางผ่านระบบดิจิทัล เป็นหนึ่งในแผนงานของกรมการขนส่งทางราง ที่มุ่งมั่นส่งเสริมการพัฒนาระบบขนส่งทางรางให้มีความทันสมัย ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในการเดินทางด้วยระบบขนส่งทางรางต่อไป
ดร.พิเชฐ กล่าวทิ้งท้ายว่า งานสัมมนาในครั้งนี้เป็นการสัมมนาครั้งสุดท้ายของโครงการซึ่งจะมีการนำเสนอกระบวนการขอรับใบอนุญาต และเสวนาแนวทางการประกอบกิจการขนส่งทางราง ผู้ประจำหน้าที่ และทะเบียนรถขนส่งทางราง หลังจากที่ได้มีการอบรมการใช้ระบบให้กับผู้ประกอบการเข้าใจเมื่อไม่นานมานี้ รวมทั้งจะเป็นการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อให้ระบบใบอนุญาตการขนส่งทางรางเป็นระบบที่สมบูรณ์เป็นมาตรฐานระบบขนส่งทางรางของไทยต่อไปในอนาคต