PR News

ขนส่งฯ ขยายเวลายกเว้นการฝึกอบรมหลักสูตร TSM

กรมการขนส่งทางบก ขยายเวลายกเว้นการฝึกอบรมหลักสูตร TSM สำหรับผู้มีประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการด้านการขนส่งทางถนนไม่น้อยกว่า 5 ปี ตั้งแต่บัดนี้จนถึง 30 ธ.ค.66 โดยสามารถยื่นสมัครเข้ารับการทดสอบความรู้ได้ที่เว็บไซต์ www.tsmthai.com

นางสิริรัตน์ วีรวิศาล รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า ตามที่กรมฯ ได้ออกประกาศ เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2564 เรื่อง กำหนดคุณสมบัติ หลักสูตร ระยะเวลาการฝึกอบรม และหน้าที่ของบุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่ง พ.ศ.2564 กำหนดให้ผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารและรถบรรทุกในประเทศไทย จะต้องจัดให้มีบุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่ง (TSM) ซึ่งมีหน้าที่หลัก 5 ด้าน ได้แก่ การจัดการรถ การจัดการผู้ขับรถ การจัดการการเดินรถ การจัดการการบรรทุกและการโดยสาร และการบริหารจัดการ การวิเคราะห์และประเมินผล เพื่อให้การขนส่งทางถนนมีความปลอดภัย และลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นจากการขนส่งทางถนน

โดยต้องผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตรบุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่ง (TSM) ของกรมการขนส่งทางบก (บุคคลทั่วไปอบรม 18 ชม. เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ อบรม 6 ชม. และผู้มีประสบการณ์การบริหารจัดการด้านการขนส่งทางถนนไม่น้อยกว่า 5 ปี อบรม 6 ชม.) และผ่านการทดสอบในระบบ e-Exam ทั้งนี้ เพื่อให้การขึ้นทะเบียนเป็นบุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่งเพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการขนส่งกรมฯ ได้ขยายเวลาสำหรับผู้มีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการด้านการขนส่งทางถนนไม่น้อยกว่า 5 ปีขึ้นไป ให้ได้รับการยกเว้นการฝึกอบรมหลักสูตรดังกล่าว ตั้งแต่บัดนี้จนถึง 30 ธ.ค.2566

ผู้มีประสบการณ์ฯ ไม่น้อยกว่า 5 ปี สามารถยื่นสมัครเข้ารับการทดสอบความรู้พร้อมแนบหลักฐาน ได้แก่ บัตรประชาชน, รูปถ่าย 1.5 นิ้ว (ถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน), หนังสือรับรองการทำงานด้านบริหารจัดการขนส่งทางถนน, หนังสือรับรองบริษัทหรือเอกสารใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ได้ที่ www.tsmthai.com และสามารถจองคิวเพื่อเข้ารับการทดสอบได้ทางแอปพลิเคชัน DLT Smart Queue หรือเว็บไซต์ https://gecc.dlt.go.th

โดยสามารถเลือกเข้ารับการทดสอบ ภายใน 30 วันนับแต่วันที่กรมฯ ได้แจ้งว่าสามารถเข้ารับการทดสอบได้ ณ สำนักสวัสดิภาพการขนส่งทางบก อาคาร 8 ชั้น 1 กรมการขนส่งทางบก สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1- 4 หรือสำนักงานขนส่งจังหวัด และสำนักงานขนส่งจังหวัดสาขาทั่วประเทศ ทั้งนี้หากสอบไม่ผ่าน สามารถสอบแก้ตัวได้อีก 2 ครั้ง ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่สอบไม่ผ่านครั้งแรก

ผู้ประกอบการขนส่งต้องเร่งดำเนินการจัดให้มีบุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่ง (TSM) ตามกรอบระยะเวลาที่กรมฯ กำหนด ซึ่งกำหนดให้มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่ 1 ม.ค.2566 ในกลุ่มผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง (รายใหม่) ได้แก่ รถโดยสารประจำทาง และไม่ประจำทาง (ผู้ขอเป็นนิติบุคคล) ที่มีรถตั้งแต่ 1 คันขึ้นไป รถบรรทุกไม่ประจำทาง และรถโดยสารส่วนบุคคลที่มีรถตั้งแต่ 11 คันขึ้นไป และในกลุ่มผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง (รายเดิม) ได้แก่ รถโดยสารประจำทาง หมวด 1 กทม. และจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง และหมวด 2 ที่มีรถตั้งแต่ 1 คันขึ้นไป รถโดยสารไม่ประจำทางที่มีรถตั้งแต่ 51 คันขึ้นไป รถบรรทุกไม่ประจำทาง (ที่มีรถขนส่งวัตถุอันตราย) ที่มีรถตั้งแต่ 1 คันขึ้นไป รถบรรทุกไม่ประจำทางที่มีรถตั้งแต่ 101 คันขึ้นไป รถบรรทุกส่วนบุคคล (ที่มีรถขนส่งวัตถุอันตราย) ที่มีรถตั้งแต่ 6 คันขึ้นไป และรถโดยสารและรถบรรทุกส่วนบุคคลที่มีรถตั้งแต่ 101 คันขึ้นไป

ในส่วนของผลบังคับใช้ ตั้งแต่ 1 ม.ค.2567 ในกลุ่มผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง (รายใหม่) ได้แก่ รถโดยสารไม่ประจำทาง (ผู้ขอเป็นบุคคลธรรมดา) และรถบรรทุกไม่ประจำทางที่มีรถตั้งแต่ 1 คันขึ้นไป รถโดยสารและรถบรรทุกส่วนบุคคลที่มีรถตั้งแต่ 6 คันขึ้นไป และในกลุ่มผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง (รายเดิม)  ได้แก่ รถโดยสารประจำทาง หมวด 3  และหมวด 4 กทม. ที่มีรถตั้งแต่ 1 คันขึ้นไป รถโดยสารไม่ประจำทางที่มีรถตั้งแต่ 11-50 คัน รถบรรทุกไม่ประจำทางที่มีรถตั้งแต่ 51 คันขึ้นไป รถโดยสารและรถบรรทุกส่วนบุคคลที่มีรถตั้งแต่ 11 คันขึ้นไป โดยตั้งแต่ 1 ม.ค.2568 รถโดยสารและรถบรรทุก ทุกคันต้องมี TSM ส่งผลให้ผู้ประกอบการขนส่งมีระบบการบริหารจัดการและตรวจสอบความปลอดภัยในการขนส่งทางถนนอย่างเป็นรูปธรรม และยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการขนส่งทางถนนอย่างยั่งยืน

Loading

Back to top button