Transport

“มนพร” เร่ง กทท. เดินหน้าทางด่วนสายบางนา-อาจณรงค์ พร้อมโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3

“มนพร” ลุยมอบนโยบาย กทท. เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การให้บริการ เพิ่มมูลค่าสินทรัพย์ พัฒนาสู่ท่าเรือสีเขียว เดินหน้าทางด่วนสายบางนา-อาจณรงค์ พร้อมโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 เผยปี 66 มีกำไร 6,890 ล้านบาท

วันนี้ (17 ต.ค.2566) นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (รชค.) เป็นประธานประชุมมอบนโยบาย​ พร้อมตรวจเยี่ยมการดำเนินงาน​ และเปิดสถาบันด้านการขนส่งทางน้ำและโลจิสติกส์ (Maritime Logistics Institue: MLI) ของการท่าเรือแห่ง​ประเทศไทย​ (กทท.) พร้อมด้วยนายสรพันธ์ คุณากรวงศ์ ผู้ช่วยเลขานุการ รชค. และคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม (คค.) โดยมีนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท.  คณะผู้บริหาร พนักงาน กทท. และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กทท. ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมชั้น 19 อาคารที่ทำการ กทท.

ผู้อำนวยการ กทท. ได้รายงานสรุปแผนงานและโครงการที่สำคัญภายใต้แผนยุทธศาสตร์ ทั้ง 5 ด้าน ประกอบด้วย การพัฒนาบริการและโครงสร้างพื้นฐาน การเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งสินค้าและระบบโลจิสติกส์ การใช้ประโยชน์สินทรัพย์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม การพัฒนาสู่องค์กรสมรรถนะสูง การสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและชุมชนโดยรอบ

ทั้งนี้ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการที่สำคัญต่าง ๆ ได้แก่ โครงการพัฒนาท่าเรือฝั่งตะวันตกเป็นท่าเรือกึ่งอัตโนมัติ โครงการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าท่าเรือกรุงเทพและศูนย์เชื่อมโยงการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ โครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษ สายบางนา-อาจณรงค์ (S1) โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โครงการพัฒนาศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการท่าเรือระนอง โครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) และโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย (Smart Community) รวมทั้งรายงานแผนการพัฒนา Business Model ในอนาคต ได้แก่ โครงการท่าเรือพันธมิตร (Chao Phraya Super Port Project) และโครงการเขตปลอดอากรท่าเรือกรุงเทพ เป็นต้น สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2566 ของ กทท. มีผลกำไร 6,890 ล้านบาท

รชค.มนพรฯ กล่าวว่า “กทท. เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการเสริมสร้างศักยภาพด้านการแข่งขันของประเทศในเวทีการค้าโลก ดังนั้นการมอบนโยบายการขับเคลื่อนภารกิจของ กทท. จะต้องมุ่งเน้นการตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในด้านโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการที่มีประสิทธิภาพ มุ่งพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านคมนาคมขนส่งและบูรณาการเชื่อมต่อการขนส่งอย่างไร้รอยต่อการบริหารจัดการสินทรัพย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อเพิ่มรายได้แก่องค์กร การนำเทคโนโลยีพร้อมสร้างสรรค์นวัตกรรมมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการให้บริการ รวมทั้งการพัฒนาท่าเรือที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยขอมอบนโยบายฯ ดังนี้

1.ผลักดันโครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) เพื่อลดผลกระทบปัญหาจราจรระหว่างท่าเรือกรุงเทพกับการจราจรบนท้องถนนในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ซึ่งตรงตามวัตถุประสงค์โครงการ “ราชรถยิ้ม” เพื่อสร้างรอยยิ้มให้กับภาคการคมนาคมขนส่ง

2.ส่งเสริมต่อยอดระบบโลจิสติกส์ ลดต้นทุนการขนส่งสินค้า เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน โดยการบูรณาการเชื่อมต่อระบบการคมนาคมขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด ในเขตเมือง เพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์โดยรวมของประเทศ รวมทั้งพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้เกิดสมรรถนะในการปฏิบัติงานด้านโลจิสติกส์ เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ

3.เชื่อมต่อการขนส่งสินค้าอย่างไร้รอยต่อ (Seamless Transport) โดยบูรณาการระบบขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบให้เชื่อมต่อทางบก ทางราง และทางน้ำ อย่างไร้รอยต่อให้มีความสะดวกและรวดเร็ว

4.การพัฒนาระบบท่าเรืออัตโนมัติ (Port Automation) โดยนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาประยุกต์ใช้ในกิจกรรมของท่าเรือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการให้บริการ รวมทั้งนำระบบอัตโนมัติ (Automated Operation) ที่มีประสิทธิภาพสูงมาใช้ในการให้บริการเพื่อมุ่งสู่การเป็น Smart Port

5.มุ่งสู่การขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้พลังงานสะอาด เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการพัฒนาสู่การเป็นท่าเรือสีเขียวร่วมกับห่วงโซ่อุปทาน (Green Port Supply Chain) ส่งเสริมการเป็นท่าเรือที่เป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral Port) รวมทั้งสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานสะอาด อาทิ การใช้ยานพาหนะไฟฟ้า

6.เร่งรัดเพิ่มขีดความสามารถโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ของท่าเรือ ประกอบด้วย การเร่งรัดผลักดันการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3, การบริหารสัญญา PPP เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด, การพัฒนาท่าเรือให้เป็นท่าเรืออัตโนมัติ (Port Automation), บริหารจัดการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการคลังสินค้า, เร่งรัดพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ของการท่าเรือฯให้เกิดขึ้นในเชิงพาณิชย์

7.ส่งเสริมการบริหารจัดการสินทรัพย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Assets Management) โดยเร่งหารายได้จากการบริหารทรัพย์สินให้มากขึ้น อาทิเช่น การนำที่ดินที่มีศักยภาพมาประมูล/ให้เช่าเพื่อสร้างรายได้ให้กับองค์กร รวมทั้งพัฒนาระบบการบริหารสินทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพให้เกิดประโยชน์และสามารถแก้ไขปัญหาชุมชน ฯลฯ ”

อย่างไรก็ตาม ท่าน รชค. เร่งรัดให้ดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลา เพื่อให้สามารถส่งมอบพื้นที่ให้บริษัทเอกชนคู่สัญญาดำเนินการต่อไป นอกจากนี้กำชับให้ดำเนินงานการจัดซื้อจัดจ้างและการปฏิบัติงานในทุกกิจกรรมให้เป็นไปด้วยความโปร่งใสตรวจสอบได้ รวมทั้งสนับสนุนให้ท่าเรือกรุงเทพเป็นท่าเรือท่องเที่ยวโดยทำในลักษณะคอมมูนิตี้ที่ทันสมัยสำหรับนักท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศ

นอกจากนี้ รชค. กำชับให้ “กทท. ดำเนินงานตามกรอบนโยบายรัฐบาลและกรอบนโยบายของ คค. ซึ่งจะต้องครอบคลุมทุกมิติ ได้แก่ มิติทางเศรษฐกิจ มิติด้านความปลอดภัย มิติด้านการให้บริการ และมิติด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อสนับสนุนและเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันระดับโลก ภายใต้วิสัยทัศน์ มุ่งสู่มาตรฐานท่าเรือชั้นนำระดับโลก พร้อมบูรณาการให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่เป็นเลิศ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ของ กทท.”

Loading

Back to top button