“สุรพงษ์” สั่ง รฟม. ยกระดับโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทุกคนเข้าถึงเท่าเทียม
“สุรพงษ์” สั่ง รฟม. เดินหน้า Quick Win “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” ยกระดับโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม
วันนี้ (18 ต.ค.2566) นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย น.ส.ณภัทรา กมลรักษา ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง) และ ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ได้เดินทางมาตรวจราชการ รับฟังข้อคิดเห็น และมอบนโยบายการดำเนินงานให้แก่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยมี นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร รฟม. ร่วมให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 9 อาคาร 1 สำนักงาน รฟม. ถนนพระราม 9 เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคม มีนโยบาย Quick Win “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัด โดยมุ่งเน้นความสุขของประชาชนในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ความปลอดภัย การให้บริการที่เป็นมาตรฐานสากล และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ รฟม. ถือเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของประชาชนในด้านการเดินทาง และการให้บริการระบบคมนาคมขนส่ง
โดยในวันนี้ นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ ได้มอบหมายให้ รฟม. ดำเนินการ ดังนี้
- สนับสนุนนโยบายของรัฐบาล เรื่อง รถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย โดย รฟม. ควรติดตามประเมินความคุ้มค่าด้านจำนวนผู้โดยสารที่จะเพิ่มมาในระบบเปรียบเทียบกับรายได้ หลังจากดำเนินมาตรการลดค่าโดยสารของรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) แล้ว และในระยะต่อไปให้ กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ร่วมกับ รฟม. ศึกษาแนวทางและจัดทำข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายที่เหมาะสมสำหรับการกำหนดอัตราค่าโดยสาร โดยอยู่บนพื้นฐานที่ไม่เป็นภาระทางการเงินของหน่วยงานภาครัฐในอนาคต ควบคู่กับการจัดทำแผนในการเพิ่มประสิทธิภาพในการหารายได้เพิ่มเติม ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะต้องเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนผู้ใช้บริการ
- สนับสนุนให้ รฟม. เสนอขอแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของหน่วยงานให้ทันสมัย สามารถพัฒนาภารกิจของหน่วยงานต่อไปได้ โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ และเป็นช่องทางการเพิ่มรายได้ให้แก่ รฟม. ในอนาคต
- เร่งรัดการดำเนินการโครงการ/กิจกรรม/การก่อสร้างที่ค้างอยู่ เพื่อจะสามารถตอบสนองความต้องการและการใช้ประโยชน์ของประชาชนที่รอรับบริการจากภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ รฟม. ควรพิจารณาเร่งรัดการคืนผิวจราจรหรือให้ใช้พื้นผิวจราจรสำหรับกิจกรรมก่อสร้างเท่าที่จำเป็น และไม่กระทบต่อการสัญจรของประชาชนหรือให้กระทบน้อยที่สุด ตลอดจนให้มีการประสานบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนให้ได้มากที่สุด รวมถึงกำกับดูแลให้มีการลอกท่อระบายน้ำในแนวก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมขัง และเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในช่วงฤดูฝน
- ยกระดับการให้บริการ กระตุ้นให้ประชาชนใช้บริการของ รฟม. เพิ่มมากขึ้น อาทิ พัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างประสบการณ์ในการเข้าถึงข้อมูลและบริการต่างๆ ของ รฟม. ให้สอดคล้องกับกระแสโลกยุคปัจจุบันมากขึ้น, จัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในสถานี เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้บริการทุกกลุ่ม ทุกประเภท สามารถเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เป็นต้น
- สนับสนุนการเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้า ทางเดินคนโดยสาร หรือทางเข้า-ออกสถานีรถไฟฟ้า กับอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการเข้าถึงบริการรถไฟฟ้าของ รฟม.
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ ยังได้เน้นย้ำให้ รฟม. ดำเนินการตามแผนงานที่สำคัญของหน่วยงานให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายในกรอบเวลาที่ชัดเจน โดยเร่งรัดการเปิดให้บริการโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี (MRT สายสีชมพู) ให้เร็วขึ้น (จากแผนเปิดให้บริการภายในเดือนมิถุนายน 2567) และยึดถือหลักความพร้อมของงานและความปลอดภัยต่อประชาชนผู้ใช้บริการเป็นสำคัญสูงสุด และมุ่งดำเนินภารกิจของหน่วยงานอย่างสร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย พัฒนาโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เชื่อมโยงการเดินทางกับระบบขนส่งสาธารณะอื่นได้อย่างไร้รอยต่อ เพื่อประโยชน์สูงสุดให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ตลอดจนเป็นหน่วยงานที่สามารถสร้างรายได้พี่งพาตนเองได้เพื่อไม่ให้กระทบต่อภาระการเงินของประเทศ
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า รฟม. พร้อมขานรับนโยบาย Quick Win “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” และข้อสั่งการของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม โดย รฟม. เตรียมบูรณาการทำงานร่วมกับ รฟท. และธนาคารกรุงไทย จำกัด ในการพัฒนาการเชื่อมต่อระบบ EMV Contactless ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อรองรับการจัดเก็บค่าโดยสารระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ของ รฟม. และ รถไฟชานเมือง สายสีแดง ของ รฟท. ในอัตราค่าโดยสาร 2 สาย สูงสุด 20 บาท รวมถึงบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า สูงสุดไม่เกิน 20 บาท ของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม พร้อมกันนี้จะเร่งรัดกำกับการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าในความรับผิดชอบของ รฟม. ทุกสายให้มีความก้าวหน้าตามแผนงาน เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนให้ครอบคลุมอย่างทั่วถึง ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
นอกจากนี้ รฟม. ยังนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาพัฒนาบริการต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชนอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการ MRTA Smart Parking ระบบบริหารจัดการที่จอดรถอัจฉริยะ ให้ผู้ใช้บริการเข้า-ออก บันทึกส่วนลด ชำระค่าบริการ ตรวจสอบข้อมูลช่องจอดว่างและอื่นๆ ได้สะดวกยิ่งขึ้น, โครงการ Taxi EV พัฒนาระบบ Feeder สำหรับผู้โดยสารรถไฟฟ้าเดินทางถึงที่หมายในชุมชนได้สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่สามารถเรียกรถได้บนแอพพลิเคชัน MRTA Parking, โครงการ Smart Pier จัดทำระบบประชาสัมพันธ์ข้อมูลดิจิทัลบริเวณท่าเรือสถานีสะพานพระนั่งเกล้า ที่บูรณาการข้อมูลการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งล้อ เรือ รางไว้อย่างครบครัน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อการเดินทาง ฯลฯ ซึ่งทุกโครงการข้างต้นจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2567
ตลอดจนยึดหลักอารยสถาปัตย์ (Universal Design) เป็นหัวใจสำคัญในการออกแบบก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าเพื่อสามารถรองรับผู้ใช้บริการทุกคน ทุกประเภทได้อย่างเท่าเทียม ควบคู่ไปกับการพัฒนานวัตกรรมในการออกแบบก่อสร้างตามหลักการ Green Construction ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องตามโยบายของกระทรวงคมนาคมด้าน “คมนาคม เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น” (Green Transport) ป้องกันและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ ทั้งในระยะก่อสร้างและระยะดำเนินการ อาทิ การนำปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก (Hydraulic Cement) ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตต่ำ เข้ามาใช้ทดแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ (Portland Cement) รูปแบบเดิม สำหรับการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) และโครงการรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ในอนาคต ทั้งนี้ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศไทยมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission)
สามารถติดตามข่าวสาร รฟม. ได้ที่เว็บไซต์ รฟม. www.mrta.co.th และเฟซบุ๊กแฟนเพจการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย Call Center รฟม. โทร. 0 2716 4044 “รฟม. ร่วมยกระดับเมืองด้วยโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนและนวัตกรรม เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน”