Logistic

กรมราง ลุยแก้ปัญหาขนส่งสินค้าทางรถไฟเข้าในท่าเรือแหลมฉบัง

กรมราง ขานรับนโยบาย ลงพื้นที่กำกับติดตามคลอด 4 มาตรการ แก้ไขปัญหาอุปสรรคการขนส่งสินค้าทางรถไฟเข้าในท่าเรือแหลมฉบัง

วันนี้  (21 พ.ย.2566) กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ลงพื้นที่ เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาอุปสรรคการขนส่งสินค้าทางรถไฟเข้าในท่าเรือแหลมฉบัง ตามนโยบายนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม โดยการลงพื้นที่ในวันนี้ นายอธิภู จิตรานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง และนายทยากร จันทรางศุ ผู้อำนวยการกองมาตรฐานความปลอดภัยและบำรุงทาง พร้อมเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางราง ร่วมกับผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ผู้แทนกรมศุลกากร ได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจปัญหาอุปสรรคเชิงลึกในกระบวนการขนส่งสินค้า โดยศึกษาวิเคราะห์รายละเอียดทุกขั้นตอนของการขนส่งสินค้าทางรถไฟเข้าในท่าเรือแหลมฉบัง

การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เพื่อผลักดันแนวทางส่งเสริมการขนส่งทางรถไฟ พร้อมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาจราจรภายในแหลมฉบังตามนโยบายนายสุรพงษ์ฯ ทางกรมการขนส่งทางราง  และรฟท. พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งรัดเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ ดังนี้

1.ปัญหาเวลาการรอคอยการเดินรถเข้าสู่แหลมฉบัง รฟท. เสนอแก้ไขข้อบังคับและระเบียบการเดินรถ พ.ศ. 2549 ของ รฟท. ให้สามารถเดินรถได้หลายขบวนใน 1 ตอน ภายในพื้นที่ โดยยังต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในการเดินรถเป็นสำคัญ

2.การเตรียมความพร้อมระบบอาณัติสัญญาณ เพื่อรองรับการออกแบบการก่อสร้างทางรถไฟไปยังท่าเทียบเรือ เพื่อยกตู้คอนเทนเนอร์จากขบวนรถไฟลงสู่เรือได้ โดยพิจารณาการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณเพิ่มเติมเพื่อความปลอดภัยและมีการแก้ไขปัญหาจุดตัดในพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อรองรับการขนส่งทางรางที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะดำเนินการติดตั้งเครื่องกั้นถนนหรือก่อสร้างเป็นจุดตัดต่างระดับโดยใช้งบประมาณของเจ้าของถนนที่ตัดผ่านทางรถไฟ ผ่านการขออนุญาตอย่างถูกต้อง

3.ประเด็นพนักงานขับรถไฟผ่านอุโมงค์ X-ray เข้าท่าเรือแหลมฉบัง ปัจจุบันขบวนรถไฟที่จะ เข้า-ออก ที่ท่าเรือแหลมฉบังต้องสับเปลี่ยนพนักงานขับรถไฟที่สถานีรถไฟแหลมฉบัง ซึ่งพนักงานขับรถไฟที่ขับผ่านอุโมงค์ X-ray เข้า-ออก ในท่าเรือแหลมฉบังมีเพียง 6 คน (หมุนเวียนรอบ ละ 2 คน ทํางานรอบละ 8 ชม.)

โดยในระยะแรกอาจพิจารณาการเพิ่มพนักงานขับรถไฟผ่านอุโมงค์ X-ray กําหนด มาตรการจูงใจ เช่น เพิ่มสวัสดิการด้านสุขภาพ ส่งเสริมการตรวจร่างกายประจําปีมากกว่าปีละ 1 ครั้ง จัดหาชุด ป้องกันรังสีที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน เพิ่มค่าตอบแทนพิเศษ เป็นต้น และในระยะถัดไปอาจพิจารณาให้พนักงาน ขับรถไฟที่ออกจากต้นทางสามารถขับเข้าท่าเรือแหลมฉบังได้เลยโดยไม่ต้องสับเปลี่ยนพนักงานขับรถไฟที่สถานี แหลมฉบัง เช่น รับสมัครพนักงานขับไฟที่พร้อมจะขับผ่านอุโมงค์ X-ray มาขับประจําในเส้นทางนี้ เป็นต้น

4.การแก้ไขปัญหาหัวรถจักรและแคร่ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน โดยในหนึ่งวันใช้แคร่หมุนวน 3 รอบ หากแคร่เกิดความเสียหายหรือขบวนเกิดความล่าช้าส่งผลให้เกิดคอขวดของตู้สินค้าที่ต้องรอในการขนส่งทางราง โดย รฟท. จะเร่งรัดดำเนินการจัดหา/ซื้อแคร่และหัวรถจักรให้เป็นไปตามแผนโดยเร็ว โดยระหว่างรอจัดหาแคร่ควรปรับปรุงแคร่เก่าหรือดัดแปลงแคร่อื่นที่ไม่ได้ใช้งานให้สามารถใช้งานไปก่อน

ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางรางและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการกำกับติดตามแก้ไขปัญหาอุปสรรคการขนส่งสินค้าทางรถไฟ เพื่อส่งเสริมการเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าทางรางให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมยกระดับมาตรฐานการขนส่งสินค้าทางรางต่อไป

Loading

Back to top button