จัดฝึกอบรมหลักสูตรเบื้องต้นสำหรับพนักงานตรวจค้น เพิ่มความรู้ ความชำนาญรักษาความปลอดภัยด้านการบิน
“กรมท่าอากาศยาน” จัดฝึกอบรมหลักสูตรเบื้องต้นสำหรับพนักงานตรวจค้น (Initial for Screener) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 รุ่นที่ 2 เพิ่มความรู้ ทักษะ ขั้นตอนและบทบาทหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตรวจอาวุธและวัตถุอันตราย เกิดความชำนาญและตระหนักในการรักษาความปลอดภัยด้านการบิน
วันนี้ (11 ธ.ค.2566) นายเกียรติชัย ชัยเรืองยศ รองอธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ด้านมาตรฐาน ผู้บริหารทุนหมุนเวียน เป็นประธานในการเปิดการฝึกอบรมหลักสูตรเบื้องต้นสำหรับพนักงานตรวจค้น (Initial for Screener) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 รุ่นที่ 2 ผ่านระบบ Zoom Cloud Meetings โดยมีกิติชัย สัจจลักษณ์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานกระบี่ เข้าร่วมในพิธีเปิดการฝึกอบรมดังกล่าวด้วย สำหรับการฝึกอบรมครั้งนี้มีผู้เข้ารับการอบรมทั้งสิ้น จำนวน 30 คน ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ตรวจอาวุธและวัตถุอันตราย สังกัดท่าอากาศยานกระบี่ ชุมพร นราธิวาส นครศรีธรรมราช ระนอง หัวหิน เลย และ ร้อยเอ็ด การอบรมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-20 ธ.ค.2566 ณ ท่าอากาศยานกระบี่ โดยได้รับเกียรติจากวิทยากร นายวินัย มัยเจริญ จากบริษัท รักษาความปลอดภัย การ์ดฟอร์ซ อะวิเอชั่น จำกัด ซึ่งได้รับใบรับรองจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยเป็นวิทยากรครูผู้สอนในหลักสูตรครั้งนี้
สำหรับการฝึกอบรมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ตรวจอาวุธและวัตถุอันตราย ได้รับความรู้ ทักษะ ขั้นตอนและบทบาทหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตรวจอาวุธและวัตถุอันตราย เกิดความชำนาญและตระหนักในการรักษาความปลอดภัยด้านการบิน สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติงานด้านการตรวจค้นอาวุธและวัตถุอันตรายได้อย่างถูกต้องตามมาตรฐาน เข้าสู่กระบวนการยื่นขอใบรับรองพนักงานตรวจค้นตามกฎ ระเบียบที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยกำหนด และเป็นไปตามแผนฝึกอบรมการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือนของกรมท่าอากาศยาน ฉบับที่ 2 ปรับปรุงครั้งที่ 00 พ.ศ. 2566 (ASP for DOA)
โดยมีหัวข้อการฝึกอบรม ดังนี้
1.การฝึกอบรมหลักสูตรความตระหนักรู้ด้านการรักษาความปลอดภัย (Security Awareness)
2.การฝึกอบรมภาคทฤษฎีหลักสูตรพื้นฐานสำหรับพนักงานตรวจค้น (Basic Screening)
3.การฝึกอบรมภาคปฏิบัติหลักสูตรพื้นฐานสำหรับพนักงานตรวจค้น (Basic Screening)
4.การฝึกอบรมการตีความภาพเอกซเรย์ด้วยคอมพิวเตอร์ (Computer Based Training (CBT)
5.การฝึกอบรมแบบปฏิบัติจริง (On-The-Job Training)
ในการนี้รองอธิบดีกรมท่าอากาศยาน ด้านมาตรฐาน ได้กล่าวให้โอวาทแก่เจ้าหน้าที่ที่เข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรดังกล่าวให้มีความตั้งใจเก็บเกี่ยวความรู้ในการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะ ให้เกิดความชำนาญ รู้บทบาทหน้าที่ของตนเอง ตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของผู้โดยสาร รวมถึงผู้ใช้บริการท่าอากาศยานเป็นสำคัญ ตลอดจนควบคู่ไปกับการบริการที่ดี ตามกิจกรรม “ส่งต่อรอยยิ้ม ด้วยใจบริการ” ของกรมท่าอากาศยาน ที่มุ่งมั่นส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ของกรมท่าอากาศยานปฏิบัติงานตามมาตรฐานควบคู่ไปกับการบริการที่ดีต่อไป