“สนามบินดอนเมือง” ก้าวสู้ปีที่ 111 เชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทางทั่วประเทศ ตั้งเป้ารับผู้โดยสาร 50 ล้านคนต่อปี
“สนามบินดอนเมือง” ก้าวสู้ปีที่ 111 เพิ่มขีดความสามารถ รองรับการจราจรทางอากาศที่เติบโตในอนาคตเชื่อมโยงสนามบินกับโครงข่ายการเดินทางทั่วประเทศ รองรับผู้โดยสารจาก 30 ล้านคนต่อปี เป็น 50 ล้านคนต่อปี
วันนี้ (8 มี.ค.2567) นายวิจิตต์ แก้วไทรเทียม ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. (AOT) เป็นประธานในพิธีทำบุญเนื่องในโอกาศครบรอบการดำเนินงาน 110 ปี ท่าอากาศยานดอนเมือง โดยมี น.ส.ณิชนันทน์ ยุ่นสมาน รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง (สายสนับสนุนธุรกิจ) ร.อ.ปกป้อง สุวรรณโมฬี รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง (สายปฏิบัติการ) นายภิเษก ชยาภิวุฒ รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง (สายบำรุงรักษา) ผู้บริหาร และพนักงาน ทอท. และอดีตผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานราชการ สายการบิน และผู้ประกอบการ ให้เกียรติเข้าร่วมงาน
โดยได้นิมนต์พระสงฆ์จำนวน 9 รูป จากวัดดอนเมือง (พระอารามหลวง) ประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่หน่วยงานและเป็นขวัญกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน จากนั้นร่วมรับชมการแสดงโขนเรื่อง รามเกียรติ์ ตอน “ยกรบ” และรำอวยพร ชุด “ระบำกฤดาภินิหาร” และนิทรรศการ “The History of Aviation in Thailand” ประวัติศาสตร์การบินในประเทศไทย ณ อาคาร Service Hall ชั้น 3 ทดม.
นายวิจิตต์ แก้วไทรเทียม กล่าวว่า ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ชื่อเดิมคือ ท่าอากาศยานกรุงเทพ หรือที่เรียกกันว่า สนามบินดอนเมือง เปิดดำเนินการครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 มี.ค.พ.ศ. 2457 เป็นท่าอากาศยานในประเทศไทย และเป็นท่าอากาศยานที่ให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศ (International Airport) ที่ตั้งอยู่บนถนนวิภาวดีรังสิต แขวงสนามบิน เขตดอนเมือง ช่วงกิโลเมตรที่ 24 ทางตอนเหนือของกรุงเทพมหานคร เป็นจุดศูนย์กลางทางการบินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สามารถเชื่อมโยงการคมนาคมทางอากาศไปยังจุดต่างๆ ของโลกได้อย่างเหมาะสม
ไม่ว่าจะเป็นการบินภายในทวีปเอเชียด้วยกัน หรือระหว่างทวีปยุโรป ทวีปอเมริกา ทวีปออสเตรเลีย ซึ่งสามารถใช้เป็นจุดแวะลง และเชื่อมต่อในการเดินทางของผู้โดยสารตลอดจนขนส่งพัสดุไปรษณียภัณฑ์ไปยังจุดอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี จนกระทั่งเมื่อวันที่ 28 ก.ย. พ.ศ.2549 ทอท. มีการเปิดใช้งานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) อย่างเต็มรูปแบบ ทดม. จึงเปลี่ยนสถานะการดำเนินงานมาเป็นพื้นที่สำหรับจอดอากาศยานส่วนตัวของบุคคลสำคัญ พื้นที่สำหรับการฝึกบิน และการซ่อมอากาศยาน
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. พ.ศ.2550 เป็นต้นมา ทดม.ได้เปลี่ยนสถานะการดำเนินงาน โดยกลับมาให้บริการเที่ยวบินแบบประจำ (Scheduled flight) ในประเทศอีกครั้ง และเมื่อวันที่ 1 ต.ค. พ.ศ.2555 ทดม. ได้กลับมาเปิดให้บริการในฐานะท่าอากาศยานนานาชาติแห่งที่ 2 อีกครั้ง เพื่อช่วยลดความแออัดของผู้มาใช้บริการ ณ ทสภ. ด้วยเหตุนี้ ทดม. จึงกลายเป็นท่าอากาศยานที่เก่าแก่ที่สุดในทวีปเอเชีย และนับเป็นท่าอากาศยานที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ปัจจุบัน ทดม. ในฐานะท่าอากาศยานนานาชาติแห่งที่ 2 มีสถานะเป็นสนามบินหลัก รองรับเที่ยวบินภายในประเทศและเที่ยวบินระหว่างประเทศในภูมิภาค จึงได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับระบบบริการผู้โดยสารเข้ามาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการให้ได้รับความสะดวกรวดเร็ว ลดระยะเวลาการรอคอยและแก้ปัญหาคอขวด บรรเทาความหนาแน่นของผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วน ได้แก่ (1) ระบบตรวจบัตรโดยสารขึ้นเครื่อง (Common Use Terminal Equipment: CUTE) เป็นระบบอำนวยความสะดวกและจัดการด้านการเข้าถึงระบบเช็กอินผู้โดยสารผ่าน Airlines Application (2) ระบบเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ (Common Use Self Service: CUSS) เป็นระบบอำนวยความสะดวกและจัดการด้านการเข้าถึงระบบเช็กอินผู้โดยสาร โดยมุ่งเน้นการบริการแบบ Self-Service ซึ่งผู้โดยสารไม่ต้องต่อแถวรอ
(3) ระบบรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (Common Use Bag Drop: CUBD) ผู้โดยสารสามารถโหลดกระเป๋าสัมภาระสู่สายพานลำเลียงได้ด้วยตนเองอัตโนมัติ (4) ระบบตรวจสอบยืนยันตัวตนผู้โดยสาร (Passenger Validation System: PVS) เป็นระบบการตรวจสอบข้อมูลการเดินทางของผู้โดยสาร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาความปลอดภัยท่าอากาศยาน (5) ระบบประตูทางออกขึ้นเครื่องอัตโนมัติ (Self-Boarding Gate: SBG) เพิ่มความสะดวกสบายนักเดินทาง และให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพงานบริการภาคพื้น (Ground Handling) รองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ทดม.ยังให้ความสำคัญกับมาตรฐานความปลอดภัย การปฏิบัติตามข้อกำหนดของรัฐ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล อันเป็นองค์ประกอบสำคัญของการก้าวไปสู่ศูนย์กลางการบินโลก
นายวิจิตต์ แก้วไทรเทียม กล่าวในตอนท้ายว่า ทดม.พร้อมส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการบินของโลก เชื่อมโยงการขนส่งทางอากาศ และเชื่อมต่อการเดินทางแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน เปลี่ยน ทดม. ให้เป็นท่าอากาศยานแบบ POINT-TO-POINT สะดวก รวดเร็ว ครบครัน เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 30 ล้านคนต่อปี เป็น 50 ล้านคนต่อปี
อาทิ โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศรองรับจำนวนผู้โดยสาร 23 ล้านคนต่อปี โครงการปรับปรุงอาคารผู้โดยสารเดิมให้เป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศรองรับผู้โดยสาร 27 ล้านคนต่อปี ยกระดับการบริการของ ทดม. อาทิ โครงการก่อสร้างอาคาร Junction Building เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่เชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนทางรางรถไฟฟ้าสายสีแดง สามารถเดินทางเข้าออกเมืองได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น พัฒนาให้เป็นแหล่งรวมของฝาก OTOP จากทั่วประเทศ
พัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance Repair and Overhaul: MRO) ร่วมกับเอกชน และการก่อสร้างอาคารจอดรถเพิ่มพื้นที่จอดรถมากขึ้น 5 เท่า สามารถรองรับได้ 7,600 คัน ภายในปี 2572 ดังวิสัยทัศน์ที่ประกาศไว้ว่า “ท่าอากาศยานมาตรฐาน บริการด้วยหัวใจ (Quality Airport with Service Mind)” ทดม. มุ่งมั่นในการให้บริการลูกค้าด้วยหัวใจ ทั้งผู้โดยสาร สายการบิน และผู้ประกอบการ เพื่อส่งมอบบริการที่ได้มาตรฐานระดับสากล พร้อมนำเทคโนโลยีดิจิตอลและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการสร้างประสบการณ์ที่ดี สะดวกสบายและรวดเร็วให้แก่ผู้ใช้บริการท่าอากาศยาน และร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจและบริษัทร่วมทุน ยกระดับการบริการที่เหนือความคาดหมายให้ลูกค้าทุกกลุ่ม เพื่อส่งมอบการบริการที่ดียิ่งขึ้นในการสร้างประสบการณ์การเดินทางที่น่าประทับใจให้กับผู้มาใช้บริการ ณ ทดม.
นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการตรวจสอบ บำรุงรักษาอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้มีความปลอดภัยและพร้อมใช้งานได้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา และความพร้อมของบุคลากรในการให้บริการและการรักษาความปลอดภัยภายในท่าอากาศยาน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการดำเนินงานของ ทดม.บรรลุประสิทธิภาพด้านความปลอดภัยและการให้บริการ