“มนพร” ดันนโยบายเครื่องบินทะเล ยกระดับขนส่งทางอากาศสู่ศูนย์กลางการบินภูมิภาค
“มนพร” ดันนโยบายเครื่องบินทะเล เพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมขนส่งทางอากาศ ส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับประเทศ ยกระดับการบินและการขนส่งทางอากาศสู่การเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่า วันนี้ (8 พ.ค.2567) ได้รับมอบจาก นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้มาเป็นประธานเปิดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เรื่อง “First Seaplane Operations Toward Thailand’s Aviation Hub” ณ โรงแรม Pullman Phuket Arcadia Naithon Beach จ.ภูเก็ต
รัฐบาลภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีนโยบายที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาและการให้บริการระบบคมนาคมและการขนส่งทางอากาศ ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถของสนามบินทั่วประเทศให้สามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารและเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อยกระดับสู่การเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค ส่งเสริมการท่องเที่ยว และสร้างรายได้ให้กับประเทศ ขณะที่ในปัจจุบันอุตสาหกรรมการบินของไทยได้กลับมาเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีนักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมเดินทางมาท่องเที่ยวมากขึ้น โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลทั้งฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย
กระทรวงคมนาคมเห็นถึงความสำคัญของการปฏิบัติการบินอากาศยานทางทะเล หรือ Seaplane Operations ซึ่งเป็นการบินรูปแบบใหม่ที่จะช่วยตอบโจทย์การส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเล ช่วยให้การเดินทางไปยังพื้นที่ห่างไกลต่าง ๆ ทางทะเลที่เข้าถึงได้ยาก รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาสาธารณภัย การค้นหาและช่วยชีวิตกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินในพื้นที่ที่เป็นน้ำหรือทะเลเกิดความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
การจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ได้ร่วมกันจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 8-10 พ.ค.2567 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนบูรณาการการทำงานร่วมกันและขับเคลื่อนให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศ (Air Operators) สามารถปฏิบัติการบินอากาศยานทางทะเล (Seaplane Operations) ในรูปแบบเที่ยวบินสาธิต (Demo Flight) ขึ้นในประเทศไทยได้ภายในปี 2567 บนพื้นที่เป้าหมายบริเวณท่าเรืออ่าวปอ ท่าเรือรัษฎา และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพีพี โดยไม่ขัดต่อกฎหมายและเป็นไปด้วยความปลอดภัย
จึงเป็นเสมือนจุดเริ่มต้นที่ทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนจะได้บูรณาการความร่วมมือร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ให้ข้อเสนอแนะและสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน เพื่อให้ Seaplane Operations สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม ดำเนินการด้วยความปลอดภัยสอดคล้องตามมาตรฐานและกฎระเบียบของประเทศไทย และเป็นไปตามข้อแนะนำขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เพื่อสานต่อนโยบาย “คมนาคมเปิดประตูการค้า การท่องเที่ยว สร้างการเป็น HUB เพื่อการเชื่อมโยงการเดินทางทุกมิติ” ต่อไป
จากนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ลงพื้นที่ติดตามโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต เพื่อรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) พร้อมรับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงาน ณ อาคารท่าเรือน้ำลึก ตำบลวิชิต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต เพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการเดินเรือสำราญขนาดใหญ่ของฝั่งทะเลอันดามัน
กระทรวงคมนาคมมีแผนพัฒนาท่าเรือน้ำลึกภูเก็ตให้เป็นท่าเทียบเรือ Cruise เนื่องจากเดิมท่าเรือแห่งนี้ได้ถูกออกแบบให้เป็นท่าเรือสำหรับขนส่งสินค้า เมื่อปริมาณสินค้าผ่านท่าเรือลดลง ในขณะที่การท่องเที่ยวทางเรือเติบโตเพิ่มขึ้นจึงมีเรือ Cruise เข้ามาจอดเทียบท่าเพิ่มขึ้น ทำให้หน้าท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันมีศักยภาพไม่เพียงพอต่อการรองรับ ประกอบกับมีข้อจำกัดเรื่องคลื่นลมแรงในช่วงฤดูลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือระหว่างเดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ ทำให้เรือไม่สามารถเข้าเทียบท่าได้ จึงต้องไปทอดสมอที่อ่าวป่าตองแทน และข้อจำกัดทางกายภาพของร่องน้ำทางเรือเดินที่มีความลึกเพียง 9 เมตรจากระดับน้ำลงต่ำสุด และแอ่งกลับลำเรือมีรัศมีเพียง 360 เมตร ทำให้เรือ Cruise ซึ่งบรรทุกผู้โดยสารประมาณ 2,500-5,000 คนต่อลำ ไม่สามารถเข้าจอดเทียบท่าได้โดยตรง ต้องขนถ่ายผู้โดยสารลงเรือเล็กเพื่อมาขึ้นที่ท่าแทน
ทั้งนี้ กรมเจ้าท่าอยู่ระหว่างดำเนินโครงการศึกษาวางแผนแม่บทพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) บริเวณชายฝั่งอันดามัน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปลายปี 2567 ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาได้เสนอแนวคิดในการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกภูเก็ตด้วยการขยายความยาวหน้าท่าเทียบเรือ ขุดลอกความลึกของร่องน้ำเท่ากับ -10.5 เมตร จากระดับน้ำลงต่ำสุด หรือ -12.8 เมตร เทียบกับระดับน้ำทะเลปานกลาง ขุดลอกเพื่อขยายแอ่งกลับลำเรือให้มีความเหมาะสม ก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นและติดตั้งไฟหัวเขื่อน และก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารและเครื่องมืออุปกรณ์ที่เป็นมาตรฐานของท่าเทียบเรือสำราญที่เป็นท่าเรือต้นทาง (Home Port)
เมื่อท่าเรือน้ำลึกภูเก็ตได้รับการปรับปรุงตามแนวทางการพัฒนาดังกล่าวแล้วจะทำให้เป็นท่าเรือแบบ Hybrid ที่เป็นทั้ง Home Port รองรับเรือ Cruise ขนาดกลางถึงเล็ก และเป็นท่าเรือแวะพัก (Port of call) สำหรับรองรับเรือ Spectrum of the Seas เรือ Cruise ขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียที่บรรทุกผู้โดยสารได้ถึง 4,200-4,900 คน ซึ่งปัจจุบันได้แวะเข้ามาจอดทอดสมอเพื่อท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตเป็นประจำ โดยนักท่องเที่ยวเหล่านี้จะใช้จ่ายเงินประมาณ 5,000 บาท/คน/วัน หากเรือ Cruise แวะเข้าเทียบท่าจำนวนมากขึ้นและจอดท่องเที่ยวในประเทศไทยนานขึ้น จะสามารถสร้างเม็ดเงินด้านการท่องเที่ยวให้มากขึ้นไปด้วย ทั้งนี้ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ข่าวสารสภาพอากาศในช่วงฤดูมรสุมให้กับนักท่องเที่ยวและคนเดินเรือทราบด้วย