“มนพร” เปิดไทม์ไลน์ ขสมก. รับรถโดยสารเพิ่ม 3,390 คัน ปชช. ได้ใช้รถเมล์ใหม่ปีนี้
“มนพร” เปิดไทม์ไลน์ ขสมก. รับรถเมล์ใหม่เพิ่ม 3,390 คัน ประชาชนทยอยได้นั่งปีนี้ หวังรองรับจำนวนผู้โดยสารขยาย โชว์ 12 โครงการเด่น ช่วง 8 เดือน สนองนโยบายเข้าเป้าหมาย พร้อมเดินหน้ายกระดับคุณภาพการให้บริการ
วันนี้ (13 พ.ค.2567) นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้หน่วยงานองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้เริ่มดำเนินการจัดหารถโดยสารประจำทางปรับอากาศพลังงานสะอาด เพื่อต้องการยกระดับคุณภาพการให้บริการรถโดยสาร โดยในระยะที่ 1 จะทำการเช่ารถเพิ่มจำนวน 350 คัน โดยจะรับรถในช่วงเดือน พ.ย.2567
ขณะที่ ระยะที่ 2 จะเช่ารถ EV เข้ามาจำนวน 1,520 คัน พร้อมรับรถเข้ามาช่วงเดือน เม.ย.2568 ดังนั้นจะมีจำนวนรถเข้ามาใหม่รวมจำนวน 1,870 คัน เพื่อนำมาวิ่งให้บริการแทนรถโดยสารเดิมที่เป็นเครื่องยนต์ดีเซล และมีอายุการใช้งานนานกว่า 30 ปี
สำหรับระยะที่ 3 จะดำเนินการจัดหารถพลังงานสะอาดตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุน (PPP) จำนวน 1,520 คัน โดยปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนเสนอบอร์ดขอรับทุน เพื่อว่าจ้างที่ปรึกษาจัดทำรายงานการศึกษา PPP เบื้องต้นคาดว่าจะจัดหาผู้ร่วมลงทุน PPP พร้อมทยอยรับรถได้ในช่วงปลายปี 2571 เป็นต้นไป ทั้งนี้ระยะที่ 1 2 และ 3 มีจำนวนรถรวม 3,390 คัน โดยแผนการจัดหารถโดยสารเพิ่มขึ้นนั้น ต้องการให้ประชาชนมีรถโดยสารที่เพียงพอต่อการให้บริการ เนื่องด้วยประชาชนมีแนวโน้มที่จะใช้บริการเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันผู้โดยสารจะไม่ต้องรอรถเป็นเวลานานอีกต่อไป
นางมนพร กล่าวต่อว่า ตามที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายการบริหารงาน โดยให้ตนรับผิดชอบในการกำกับดูแล ตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย.2566 เป็นต้นมา ซึ่งปัจจุบันได้กำกับดูแล ขสมก. มาเป็นระยะเวลา 8 เดือนแล้ว (ก.ย.2566-พ.ค.2567) ขณะนี้หน่วยงานได้มีพัฒนาทุกด้าน ทั้งอยู่ระหว่างดำเนินการ และสำเร็จเป็นรูปธรรม ตรงตามนโยบายที่ได้มอบหมายไว้ โดย ขสมก. ได้รายงานโครงการเด่นจำนวน 12 โครงการ ได้แก่
1.การจัดหารถโดยสารให้ครบ จำนวน 3,390 คัน 2.การผลักดันแผนขับเคลื่อนกิจการองค์การขนส่งมวลชน 3.โครงการพัฒนาป้อมนายท่าปล่อยรถ เพื่อทดแทนป้อมเดิมที่มีสภาพเก่าและทรุดโทรม และติดตั้งจอ LED ที่เชื่อมต่อกับระบบ GPS ของรถโดยสาร เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนอย่างเต็มรูปแบบ 4.โครงการสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล (เบิกตรง)ทำให้พนักงานไม่ต้องสำรองเงินสด เพื่อจ่ายค่ารักษาพยาบาล
นางมนพร กล่าวต่อถึงโครงการที่ 5.โครงการเช่ารถไฟฟ้าเพื่อใช้งานในสำนักงาน จำนวน 51 คัน 6.โครงการจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อดำเนินการให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 (PDPA) 7.โครงการติดตั้งระบบ GPS ติดตามตำแหน่งรถโดยสาร เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้ใช้บริการ และผู้ใช้รถใช้ถนนทั่วไป 8.โครงการติดตั้งกล้อง CCTV ในรถโดยสาร
9.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพ BMTA MIS บริหารจัดการเดินรถ ขสมก. (Web Application และ Mobile Application) 10. โครงการประกันเวลาการเดินทางโดยรถโดยสาร ขสมก. (Just In Time) 11.การยกเลิกสัญญาเหมาซ่อมรถโดยสาร ยี่ห้อ BLK พร้อมหาบริษัทเหมาซ่อมบำรุงรถโดยสารรายใหม่ที่มีประสิทธิภาพเข้ามาทดแทน และ 12.โครงการจัดการข้อมูลบุคคลและสวัสดิการพนักงาน
โดยนอกเหนือจาก 12 โครงการดังกล่าวแล้ว กระทรวงคมนาคม และ ขสมก. ยังได้ร่วมมือกันในอีกหลายโครงการ เพื่อมุ่งหวังพัฒนาหน่วยงานและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานอย่างเต็มรูปแบบ พร้อมทั้งต้องการยกระดับคุณภาพการให้บริการรถโดยสารของ ขสมก. นำไปสู่การสร้างความพึงพอใจให้กับประชาชนผู้ใช้บริการ และพนักงาน ขสมก. ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย “ราชรถยิ้ม”
สำหรับแนวทางการสร้างการเติบโตของรายได้ของหน่วยงาน ขสมก. ดำเนินการภายใต้แนวคิด 4 เพิ่ม 4 ลด ได้แก่ เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเดินรถและปรับปรุงเส้นทาง เพิ่มคุณภาพการให้บริการจากการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพิ่มรายได้ค่าโดยสารจากการปรับเปลี่ยนการจัดเก็บค่าโดยสาร เพิ่มรายได้เชิงพาณิชย์จากทรัพย์สินที่มีอยู่ในปัจจุบัน ลดค่าใช้จ่ายของการเดินรถ ลดค่าใช้จ่ายของสำนักงาน ลดค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิง ลดค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุง เพื่อเสริมสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนของหน่วยงาน ขสมก. ต่อไป