Transport

“สุรพงษ์” ตรวจงาน รฟท. สั่งสร้างรายได้เพิ่ม ยกระดับการขนส่งทางรางไทย

วันนี้ (30 พฤษภาคม 2567) เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุมปฏิบัติการ ชั้น 3 ตึกบัญชาการ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมและติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พร้อมด้วย น.ส.ณภัทรา กมลรักษา ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) โดยมีนายจเร รุ่งฐานีย รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศ รักษาการในตำแหน่งผู้ว่า รฟท. นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่า รฟท. รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด คณะผู้บริการ รฟท. และพนักงาน รฟท. ให้การต้อนรับ

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การมาตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของการรถไฟฯ ในครั้งนี้ เพื่อต้องการติดตามติดตามความก้าวหน้าการปฏิบัติภารกิจต่างๆ ในทุกมิติของ รฟท. โดยได้มอบนโยบายเพิ่มเติมในเรื่องของการสร้างรายได้เพิ่ม แก้ปัญหาการขาดทุน ซึ่งหลังจากที่ได้มอบนโยบายในการตรวจเยี่ยมครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 ต.ค.2566 ที่ผ่านมา เพื่อต้องการให้การดำเนินนโยบาย Quick Win “คมนาคม ของประชาชน” เกิดความต่อเนื่อง มีความเชื่อมโยงระหว่างระบบขนส่งทางรางของ รฟท. ซึ่งเป็นระบบขนส่งหลักของประเทศ กับระบบขนส่งอื่นๆ ทั้งทางบก น้ำ และอากาศ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการลดต้นทุนการขนส่ง พร้อมกับขยายขีดความสามารถการแข่งขันโลจิสติกส์ของไทยกับนานาประเทศได้ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ขณะนี้การรถไฟฯ ได้ดำเนินการก้าวหน้าตามลำดับ โดยเฉพาะโครงการรถไฟทางคู่และรถไฟสายใหม่ ซึ่งสามารถเปิดใช้งานได้แล้วหลายเส้นทาง ได้แก่ โครงการช่วงชุมทางฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย โครงการช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ขณะที่เส้นทางรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม-ชุมพร ก็สามารถเปิดให้บริการได้ตามแผนเช่นกัน เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2566 ที่ผ่านมา โดยเป็นการเปิดให้บริการระหว่างสถานีบ้านคูบัว จ.ราชบุรี ถึงสถานีสะพลี จ.ชุมพร รวมระยะทาง 348 กิโลเมตร

จากนั้นมีแผนเปิดใช้ทางคู่เพิ่มระหว่างสถานีโพรงมะเดื่อ-บ้านคูบัว ระยะทาง 50 กิโลเมตร และสถานีสะพลี-ด้านเหนือสถานีชุมพร ระยะทาง 12.80 กิโลเมตร ซึ่งตามแผนจะเปิดใช้ทางคู่ตลอดเส้นทาง ช่วงนครปฐม-ชุมพร รวมระยะทาง420 กิโลเมตร ประมาณช่วงเดือนสิงหาคม 2567 นอกจากนี้ ในปลายปี 2567 จะเปิดให้บริการรถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ช่วงบันไดม้า-คลองขนานจิตร อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ระยะทาง 29.70 กม. ที่การก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จ เพื่อช่วยลดระยะเวลาเดินทางแก่ประชาชน

ขณะที่ความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทาง ได้แก่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ปัจจุบันก้าวหน้าไปแล้ว 9.695% และโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม สัญญา 1 บ้านไผ่-หนองพอก สัญญา 2 หนองพอก-สะพานมิตรภาพ 3 ก้าวหน้าแล้ว 2.578% อีกทั้งยังมีโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ที่เตรียมพัฒนาเพิ่มเติมอีก 7 สายทาง ได้แก่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย อยู่ระหว่างเตรียมประกวดราคาก่อสร้าง

ส่วนช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย, ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี, ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี, ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา และช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ได้ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการ รฟท. ไปแล้ว และอยู่ระหว่างส่งเรื่องให้กระทรวงคมนาคม เสนอขอมติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีต่อไป ขณะที่โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

สำหรับการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ถึงสถานีปลายทางนครราชสีมา ระยะทาง 250.77 กิโลเมตร ขณะนี้มีความก้าวหน้าภาพรวมที่ 33.52% ซึ่งแยกเป็นงานส่วนโยธา 14 สัญญา สามารถก่อสร้างเสร็จแล้ว 2 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา และยังไม่ลงนาม 2 สัญญา นอกจากนี้ ยังมีสัญญางานระบบฯ 1 สัญญา อยู่ระหว่างการออกแบบและจัดหาวัสดุอุปกรณ์ตามสัญญา จึงมอบหมายให้ รฟท. เร่งดำเนินการโครงการต่าง ๆ ในส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จตามแผนที่กำหนด ซึ่งคาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการได้ภายในปี 2571

ทั้งนี้ยังมอบนโยบายให้ รฟท. เร่งรัดแผนการจัดหารถจักร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการขนส่งแก่พี่น้องประชาชน ประกอบด้วย แผนการจัดหารถจักรจำนวน 113 คัน รถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ระบบ EV on Train จำนวน 17 คัน และรถดีเซลราง 184 คัน เพื่อนำมาทดแทนรถเดิมที่มีอายุการใช้งานมานาน ซึ่งจะสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าทั่วประเทศได้ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้ รฟท. มีรถจักรเพียงพอต่อการให้บริการ โดยเฉพาะเมื่อเปิดเดินรถรถไฟทางคู่ และเส้นทางใหม่ๆ ที่ทยอยเปิดใช้งานในอนาคต

นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้ รฟท. เร่งจัดทำแผนท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมศักยภาพ การเดินทางและการท่องเที่ยวภายในประเทศตามนโยบายของรัฐบาล โดยล่าสุด รฟท. มีแผนเตรียมเปิดให้บริการเดินรถเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ SRT Royal Blossom ซึ่งเป็นรถที่ รฟท. ได้รับมอบจากบริษัท Hokkaido Railway Company (JR Hokkaido) ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 10 คัน นำมาปรับปรุงเป็นรถไฟท่องเที่ยว โดยปัจจุบันปรับปรุงเสร็จสมบูรณ์แล้ว 5 คัน และพร้อมเปิดให้บริการแก่นักท่องเที่ยวช่วงเดือน ส.ค.2567 ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจของชุมชน สร้างงาน สร้างอาชีพให้ท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน

ขณะที่การให้บริการประชาชน ได้สั่งการให้ รฟท. นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่ประชาชนเพิ่มขึ้น โดยหลังจาก รฟท. ขยายเวลาเปิดให้บริการจองตั๋วโดยสารล่วงหน้าสูงสุด 90 วัน ในขบวนรถด่วนพิเศษและขบวนรถด่วนจำนวน 32 ขบวนไปแล้ว

ล่าสุด ได้เตรียมเปิดให้บริการจองตั๋วล่วงหน้าเพิ่มในขบวนรถเร็ว รถนำเที่ยว และรถพิเศษโดยสาร อีก 26 ขบวนรถ รวมทั้งสิ้น 58 ขบวน ซึ่งจะครอบคลุมการให้บริการจองตั๋วล่วงหน้าครบทุกขบวนที่มีการเปิดให้สำรองที่นั่ง โดยถือเป็นการอำนวยความสะดวก ตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชนให้มีโอกาสวางแผนในการเดินทางล่วงหน้าได้นานขึ้น

ที่สำคัญ ในเร็วๆ นี้ รฟท. เตรียมร่วมหารือกับ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เพื่อบูรณาการเชื่อมโยงการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะร่วมกัน ด้วยการจัดทำระบบ One ID One Ticket สำหรับให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้รหัสสมาชิกรหัสเดียวจองตั๋วโดยสารรถไฟ และตั๋วรถ บขส. ได้ในระบบเดียวกัน เป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินทางแบบไร้รอยต่อให้กับประชาชน

หลังจากการรับฟังรายงานความคืบหน้าการปฏิบัติภารกิจของ รฟท. ในครั้งนี้ จะมีการติดตามความก้าวหน้าของแผนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระทรวงคมนาคม และ รฟท. มั่นใจว่าหากโครงการต่างๆ ดำเนินการอย่างเสร็จสมบูรณ์แล้ว จะช่วยยกระดับการให้บริการการเดินทางที่ดีแก่พี่น้องประชาชน ให้ได้รับความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย เชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาคได้อย่างแท้จริง

Loading

Back to top button