“สุรพงษ์” เช็กเปิดเดินรถไฟทางคู่ ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร พร้อมลานกองเก็บตู้สินค้าคอนเทนเนอร์
“สุรพงษ์” เช็กเปิดเดินรถไฟทางคู่ ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร พร้อมลานกองเก็บตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ @สถานีสะพลี ก่อนเดินทางโดยรถไฟขบวนพิเศษท่องเที่ยว SRT ROYAL BLOSSOM ไปยังสถานีทุ่งมะเม่า เส้นทางรถไฟใกล้ชายทะเล หนุนเที่ยวทางรถไฟในพื้นที่ประจวบคีรีขันธ์
วันนี้ (15 มิ.ย.2567) นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ติดตามความคืบหน้าการเปิดเดินรถไฟทางคู่ ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร และการพัฒนาลานกองเก็บสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ (Container Yard : CY) ที่สถานีสะพลี โดยมี น.ส.ณภัทรา กมลรักษา เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และประธานกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ร่วมเดินทาง และมีนายอวิรุทธ์ ทองเนตร รองผู้ว่า รฟท. บรรยายสรุปปัญหา และอุปสรรคการเปิดการเดินรถทางคู่ และพัฒนาลานกองเก็บตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ (CY) ที่สถานีสะพลี และนายชูรินทร์ กิตติวิบูลย์ ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการขนส่งทางราง บริษัท โกลบอล มัลติโมดัล โลจิสติกส์ จำกัด (GML) บรรยายการขนส่งทุเรียนเส้นทางสะพลี-หนองคายทางรถไฟ เพื่อขนส่งไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน
โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร มีการก่อสร้างลานกองเก็บตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ (CY) สองแห่ง ที่สถานีสามร้อยยอดและสถานีนาผักขวง แต่อย่างไรก็ตาม พบว่า ปัจจุบันที่สถานีสะพลี จ.ชุมพร มีพื้นที่สำหรับรองรับการขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์อยู่แล้ว โดยมีเอกชนผู้ประกอบการ 2 รายมาใช้บริการขนส่งยางพาราบรรจุใส่ตู้คอนเทนเนอร์ โดยมีรถยกตู้คอนเทนเนอร์ (reach stacker) จำนวน 1 คัน เพื่อยกขึ้นแคร่บรรทุกสินค้าตู้คอนเนอร์ (บทต.) ในการขนส่งทางรถไฟอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือน มิ.ย.-ส.ค. ของทุกปี ซึ่งเป็นฤดูที่ทุเรียนในพื้นที่ จ.ชุมพร มีปริมาณมากเพียงพอที่จะส่งออกไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยปีที่ผ่านมาได้มีการขนส่งทุเรียนทางรางไปคุณหมิงและกวางโจ สาธารณรัฐประชาชนจีน ช่วงเดือน เม.ย.-ก.ค. 2566 รวมประมาณ 150 ตู้ และปีนี้เริ่มขนส่งทุเรียนจากภาคตะวันออกไปสาธารณรัฐประชาชนจีนทางรถไฟประมาณ 300 ตู้แล้ว และได้มีการขนส่งทุเรียนใส่ตู้คอนเทนเนอร์แบบควบคุมความเย็น (reefer container) ทางรถไฟเส้นทางสะพลี-มาบตาพุด ตั้งแต่วันที่ 14 มิ.ย.2567 ที่ผ่านมา จำนวน 15 ตู้ต่อครั้ง วิ่งวันเว้นวัน เพื่อไปรวมกับทุเรียนในพื้นที่ภาคตะวันออกก่อนขนส่งไปสาธารณรัฐประชาชนจีนต่อไป
สำหรับในปีนี้ รฟท. ได้มีการเปิดใช้ทางคู่ช่วงนครปฐม-ชุมพร ระยะทาง 420 กิโลเมตรเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.2567 ที่ผ่านมา ประกอบกับได้เปิดใช้ทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 187 กิโลเมตร เมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา ทำให้ระยะเวลาในการขนส่งสินค้าทางรถไฟรวดเร็วขึ้น
ประกอบกับปัจจุบันสถานีสะพลีเป็นจุดขนถ่ายตู้สินค้าที่ใกล้ อ.หลังสวน ที่มีจำนวนล้งทุเรียนอยู่จำนวนมาก และมีพื้นที่ลานกองเก็บตู้สินค้า 9,000 ตารางเมตร สามารถพัฒนาเป็น “ศูนย์กระจายสินค้าทางรถไฟภาคใต้” ได้ ทางบริษัท GML จึงมีแผนที่จะขนส่งทุเรียนด้วยตู้คอนเทนเนอร์แบบควบคุมความเย็น (reefer container) ทางรถไฟ เส้นทางสะพลี-หนองคาย ผ่านสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เพื่อส่งต่อไปยังนครคุณหมิง และอีก 4 มณฑลของสาธารณรัฐประชาชนจีน
โดยกระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางราง การรถไฟแห่งประเทศไทยและบริษัท GML จึงประชุมร่วมกัน เพื่อพิจารณาแนวทางการปรับปรุงลานกองเก็บตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ (CY) ที่สถานีสะพลีเพิ่มเติม เช่น การติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่างพร้อมปลั๊กเสียบเพื่อรองรับตู้คอนเทนเนอร์แบบควบคุมความเย็น (reefer container) การติดตั้งระบบโทรทัศน์วงจรปิด และเพิ่มรถยกตู้คอนเทนเนอร์ (reach stacker) เพื่อรองรับการขนส่งทุเรียนที่เพิ่มขึ้นในอนาคต พร้อมทั้งปรับตารางเวลาเดินรถไฟขบวนขนส่งทุเรียนเพื่อลดระยะเวลาในการขนส่งเส้นทางสะพลี-หนองคาย จากเดิม 4 วัน เหลือ 2 วัน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มการขนส่งสินค้าทางราง ช่วยลดอุบัติเหตุทางถนนและลดต้นทุนโลจิสติกส์ในการขนส่ง
ปัจจุบันการขนส่งสินค้าจากภาคใต้ไปยังภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ยังต้องผ่านสะพานพระรามหก ซึ่งมีข้อจำกัดไม่สามารถเดินขบวนรถไฟสวนกันบนสะพานพระรามหกได้ รวมทั้งการขนส่งสินค้าในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งส่งผลกระทบต่อการจราจรติดขัด จึงติดเรื่องเวลาการขนส่งสินค้าในเขตกรุงเทพมหานครได้เฉพาะช่วงเวลา 22.00-04.00 น. จึงได้มอบหมายให้ รฟท. ศึกษาความเหมาะสมเส้นทางสายใหม่ เชื่อมชุมทางหนองปลาดุกกับชุมทางบ้านภาชี
ซึ่งปัจจุบันมีทางรถไฟเลี่ยงเมือง (chord line) ที่เป็นทางคู่เชื่อมต่อไปยังภาคต่างๆ ได้สะดวก โดยรฟท. ได้รับจัดสรรงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 แล้วอยู่ระหว่างดำเนินการจ้างที่ปรึษา และขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อออกแบบรายละเอียด ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วจะช่วยให้การขนส่งสินค้ามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
จากนั้นนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ พร้อมคณะได้เดินทางโดยขบวนรถไฟพิเศษท่องเที่ยว SRT ROYAL BLOSSOM ไปยังสถานีทุ่งมะเม่า ซึ่งเป็นบริเวณที่เส้นทางรถไฟใกล้ชายทะเล เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางรถไฟในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สอดรับกับนโยบาย IGNITE TOURISM THAILAND ของรัฐบาล และที่ผ่านมาได้มอบนโยบายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินนโยบาย Quick Win “คมนาคม ของประชาชน” เมื่อ ต.ค.2566 ที่ผ่านมาเพื่อมุ่งนำเทคโนโลยี นวัตกรรมที่ทันสมัย มาใช้กับการดำเนินภารกิจของหน่วยงานอย่างสร้างสรรค์ ให้เป็นองค์กรที่ทันสมัย เพื่อให้ประชาชนเกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นฟันเฟืองหลักในการพัฒนาระบบขนส่งทางรางให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ เป้าหมายสำคัญจะต้องทำให้ รฟท. กลับมาเป็นองค์กรที่มีความเข้มแข็ง สามารถขับเคลื่อนระบบการขนส่งทางรางของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะเดียวกัน ให้ รฟท. เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่ประชาชนไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางรถไฟ สนับสนุนชุมชนท้องถิ่นในเส้นทางท่องเที่ยวให้สามารถจำหน่ายสินค้าของที่ระลึกกับนักท่องเที่ยว เป็นการสร้างงานสร้างอาชีพอย่างยั่งยืน และได้เร่งรัดดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ และรถไฟสายใหม่ทั่วประเทศให้แล้วเสร็จตามแผนงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบการขนส่งทางรางให้เป็นระบบขนส่งหลักของประเทศ ที่มีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และการขนส่งสินค้าเชื่อมโยงทุกภูมิภาค รวมถึงมีส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวของประเทศด้วย
เมื่อเปิดใช้รถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม-ชุมพร ได้ตลอดเส้นทาง รวมระยะทางทั้งสิ้น 420 กิโลเมตร ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาเดินทาง เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งด้วยระบบรถไฟทางคู่ที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ตรงต่อเวลา สามารถเชื่อมต่อการขนส่งและเส้นทางท่องเที่ยว โดยเฉพาะสถานีหัวหิน สถานีประจวบคีรีขันธ์ และสถานีทุ่งมะเม่า จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งอยู่ใกล้ชายทะเล ซึ่งได้ตนได้มอบหมายให้สำนักงานขนส่งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ประสานงานกับ รฟท. และท่องเที่ยว จ.ประจวบคีรีขันธ์ผ่านการประชุมระดับจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เพื่อนพิจารณาจัดรถขนส่งสาธารณะมารองรับการเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟกับแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ
เนื่องจากที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้ออกกฎกระทรวงกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้ให้บริการเดินรถขนส่งสาธารณะ (operator) โดยขออนุญาตกรมการขนส่งทางบกผ่านคณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง ที่กำหนดลักษณะรถและเส้นทางการเดินรถขนส่งสาธารณะ ก่อนดำเนินการต่อไป พร้อมทั้งมอบหมายให้ รฟท. จัดเตรียมพื้นที่บริเวณย่านสถานีรถไฟที่สำคัญ เพื่อรองรับเป็นที่จอดระบบขนส่งสาธารณะ (feeder) ในรูปแบบขนส่งแบบไร้รอยต่อระหว่ารถกับราง เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้โดยสาร ส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของพื้นที่และประเทศได้เป็นอย่างดีต่อไป