“สุรพงษ์” เร่งพัฒนาบริการการเดินอากาศ ขยายขีดความสามารถรองรับเที่ยวบิน
“บวท.” เตรียมพร้อมเข้าร่วมประชุมกับผู้ให้บริการการเดินอากาศในเอเชียแปซิฟิก หารือความร่วมมือด้านนโยบาย เทคโนโลยี ระบบอุปกรณ์ การเชื่อมต่อข้อมูล การปฏิบัติงาน เพื่อพัฒนาการให้บริการการเดินอากาศรองรับการเติบโตของปริมาณการจราจรทางอากาศ
วันนี้ (26 มิ.ย.2567) นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ได้มอบนโยบายให้บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) มุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบิน เพื่อขับเคลื่อนไปสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค และให้ความสำคัญกับความร่วมมือกับพันธมิตรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการจราจรทางอากาศ ซึ่ง บวท. มีความร่วมมืออันดีกับประเทศพันธมิตรในเอเชียแปซิฟิก เพื่อมุ่งไปสู่การบริหารจราจรทางอากาศแบบไร้รอยต่อ (Seamless Air Traffic Management)
ทั้งนี้ ประเทศในเอเชียแปซิฟิกให้ความสำคัญกับการพัฒนาบริการการเดินอากาศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งการพัฒนาทั้งในด้านเทคโนโลยี ระบบอุปกรณ์ การเชื่อมต่อข้อมูล และ การปฏิบัติงาน (Operational and Safety Procedures) จำเป็นจะต้องดำเนินการร่วมกันให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลและเชื่อมต่อข้อมูลการให้บริการการเดินอากาศระหว่างกันได้ เพื่อให้การให้บริการการเดินอากาศมีประสิทธิภาพและพร้อมรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินอย่างยั่งยืน
นายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บวท. กล่าวว่า บวท. จะเข้าร่วมการประชุมที่จัดขึ้นโดยความร่วมมือของสำนักงานสาขาองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (ICAO APAC) องค์กร Civil Aviation Navigation Services Organization (CANSO) และหน่วยงาน Air Traffic Management Bureau of Civil Aviation Administration of China CAAC/ATMB แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้แก่ การประชุม Asia and Pacific ANSP Committee (AAC) การประชุม Asia Pacific Safety Work Group การประชุม Asia Pacific Operations Work Group การประชุม Asia Pacific CANSO CEO Committee และการประชุม CANSO Asia Pacific Conference 2024 ระหว่างวันที่ 8 – 11 ก.ค.2567 ณ โรงแรม JinJiang Hotel เมืองเฉิงตู สาธารณรัฐประชาชนจีน
“ผมจะร่วมปฏิบัติหน้าที่ Vice – Chair ของการประชุม AAC ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญที่วิทยุการบินฯ ได้ร่วมดำเนินงานกับหน่วยงาน/องค์กรด้านการบินในภูมิภาค ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติงาน (Committees/ Working Group) เพื่อร่วมกำหนดแนวทางการดำเนินการทางด้านการบินของภูมิภาค อีกทั้งการประชุมดังกล่าวผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ และผู้แทนจากหน่วยงานผู้ให้บริการการเดินอากาศ (ANSP) ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีโอกาสรับทราบแผนการดำเนินการโครงการที่สำคัญของประเทศสมาชิกในภูมิภาค การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การสนับสนุนข้อมูล Best Practices ระหว่างหน่วยงาน การวิเคราะห์รายงานจากคณะทำงานต่างๆ ของภูมิภาคร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การกำหนดกลยุทธ์และแผนดำเนินงานในการพัฒนาการให้บริการการเดินอากาศ (Air Navigation Services) ของภูมิภาค เพื่อรองรับอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องของปริมาณจราจรทางอากาศ และเพื่อให้การบริการการเดินอากาศเป็นไปด้วยความปลอดภัย มีประสิทธิภาพสูงสุดอย่างยั่งยืน” นายณพศิษฏ์ กล่าว