32 ปี “รฟม.” ลุยต่อสร้างโครงข่ายรถไฟฟ้าทั่วไทย ตอบโจทย์การเดินทาง ปชช. ยั่งยืน
วันนี้ (21 ส.ค.2567) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ฉลองครบรอบ 32 ปี วันคล้ายวันก่อตั้ง รฟม. ตอกย้ำแนวคิด “Go Green Grow Together” ด้วยการสานต่อภารกิจพัฒนาและขยายโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตเมืองที่ครอบคลุมยิ่งขึ้น เชื่อมต่อขนส่งสาธารณะระบบราง – ล้อ – เรือ ยกระดับการเดินทางแบบไร้รอยต่อให้แก่คนเมือง ควบคู่ไปกับการดำเนินงานด้วยความใส่ใจและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมในทุกมิติ ผ่านกระบวนการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม “Green Construction” เพื่อสร้างระบบขนส่งมวลชนพลังงานสะอาด “Green Transportation” พร้อมทั้งรณรงค์สร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม “Green Office” แก่บุคลากรของ รฟม. ตลอดจนชุมชนในแนวสายทางโครงการรถไฟฟ้า มุ่งสู่เป้าหมายการสร้างสังคมสีเขียว “Green Society” ที่ยั่งยืนสำหรับคนทุกคน
โดยในวันนี้ นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงศ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง และผู้บริหารหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ให้เกียรติร่วมแสดงความยินดีแก่ รฟม. โดยมี นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทน ผู้ว่าการ รฟม. และคณะผู้บริหาร รฟม. ให้การต้อนรับ และยังร่วมกันทำกิจกรรมระบายสีกระถางสำหรับปลูกต้นไม้ฟอกอากาศ เพื่อส่งต่อแนวคิด “Go Green Grow Together” สู่สาธารณะอีกด้วย ในโอกาสนี้ รฟม. ยังได้จัดกิจกรรมสร้างสัมพันธ์อันดีกับชุมชนรอบๆ ตามแนวสายทางโครงการรถไฟฟ้า ด้วยการมอบทุนการศึกษาให้แก่น้องๆ นักเรียนจากโรงเรียนที่อยู่ตามแนวสายโครงการรถไฟฟ้าของ รฟม. ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญของหน่วยงาน
นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทน ผู้ว่าการ รฟม. ระบุว่า ปัจจุบัน รฟม. มีโครงการรถไฟฟ้าในการกำกับที่อยู่ในช่วงของการเปิดให้บริการแล้ว จำนวน 4 สาย ได้แก่ รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) และสายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ซึ่งเป็นระบบรถไฟฟ้ารางหนัก (Heavy Rail) ที่ให้บริการเดินรถในประเทศไทยมาแล้วมากกว่า 20 ปี ในขณะที่รถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์ (MRT สายสีเหลือง) และสายสีชมพู (MRT สายสีชมพู) เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) ที่ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นของการเปิดให้บริการ ทั้งภาครัฐโดยกระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางราง รฟม. และภาคเอกชนผู้รับสัมปทาน จะบูรณาการความร่วมมือกันอย่างเต็มที่เพื่อสั่งสมความเชี่ยวชาญ เร่งสร้างมาตรฐานการให้บริการที่มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย 100% โดยเร็วที่สุด
ไม่เพียงเท่านี้ รฟม. ยังได้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาพัฒนาบริการที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ ระบบชำระค่าโดยสารด้วยบัตร EMV Contactless ระบบบริหารจัดการที่จอดรถอัตโนมัติ (MRTA Smart Parking) ซึ่งจะทำงานควบคู่กับแอปพลิเคชัน MRTA Parking บนสมาร์ทโฟน การเพิ่มช่องจอดรถด้วยที่จอดรถอัตโนมัติ (Robot Parking) ในลานจอดแล้วจร สถานีห้วยขวาง สถานีสามย่าน และสถานีเพชรบุรี และภายในปีนี้ รฟม. เตรียมเปิดจุดให้บริการ EV Charger ที่ตอบสนองต่อเทรนด์การใช้รถยนต์ไฟฟ้า (รถยนต์ EV) ของคนเมือง รวมถึงบริการ Taxi EV เพื่ออำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าเพิ่มอีกด้วย
ในขณะเดียวกัน รฟม. ยังให้ความสำคัญกับการดูแลประสบการณ์ในการเดินทางด้วยรถไฟฟ้ามหานครของผู้ใช้บริการ ด้วยทีมเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความปลอดภัยและกู้ภัยทั้งของ รฟม. เอง และของผู้รับสัมปทาน/ผู้ประกอบการเดินรถ ซึ่งสามารถประสานการทำงานร่วมกันเพื่อดูแลความปลอดภัยให้แก่คนทุกคนที่เข้ามาอยู่ในเขตระบบรถไฟฟ้ามหานครได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงจัดให้มีบริการ MRTA Lost and Found ช่วยติดตามทรัพย์สินที่สูญหายขณะใช้บริการรถไฟฟ้ามหานครกลับคืน และ รฟม. ยังมีแผนที่จะสื่อสารเชิงรุกในการรณรงค์สร้างจิตสำนึกสาธารณะในกลุ่มผู้ใช้บริการให้มากขึ้น เพื่อสร้างวัฒนธรรมในการเดินทางด้วยรถไฟฟ้ามหานครที่เป็นมิตรต่อคนทุกกลุ่ม ทุกประเภท จูงใจให้ประชาชนมีทัศนคติที่ดีและเลือกใช้รถไฟฟ้ามหานครที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาดเป็นทางเลือกหลักในการเดินทางเพิ่มมากขึ้น ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว บรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด อันเป็นสาเหตุสำคัญของการก่อมลพิษทางอากาศ ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนได้อย่างยั่งยืน
ในส่วนของภารกิจกำกับการดำเนินงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า รฟม. ยังเพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแลทั้งในด้านความปลอดภัย และมาตรการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างต่อเนื่อง สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี มีความก้าวหน้างานโยธา 69.99% ความก้าวหน้างานระบบรถไฟฟ้า 49.95% ความก้าวหน้าโดยรวม 63.25% (ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2567) คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2568
โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) มีความก้าวหน้างานโยธา 38.22% (ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2567) คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2571 และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เตรียมเข้าสู่ขั้นตอนการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และ การสำรวจสาธารณูปโภคต่างๆ โดยคาดว่าจะก่อสร้างงานโยธาและติดตั้งระบบรถไฟฟ้าแล้วเสร็จ สามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2573
ทั้งนี้ สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่งานโยธาเสร็จสิ้นแล้วนั้น รฟม. ได้กำชับให้ผู้รับสัมปทานเร่งจัดหาขบวนรถไฟฟ้าและติดตั้งระบบรถไฟฟ้าโดยเร็วที่สุด เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้ก่อนในปี 2571
ทั้งนี้ รฟม. ยังได้รับมอบหมายจากกระทรวงคมนาคมให้ศึกษารายละเอียดความเหมาะสมของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม) เพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางการบูรณาการร่วมกับโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ประกอบการเสนอขออนุมัติโครงการฯ ต่อไป นอกจากนี้ รฟม. ยังมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้เกิดการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนในเขตเมืองของจังหวัดภูมิภาคอีก 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ภูเก็ต นครราชสีมา และพิษณุโลก ซึ่งปัจจุบัน รฟม. ได้เสนอผลการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบการดำเนินโครงการ และรูปแบบการลงทุนต่างๆ ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
รฟม. ยังยืนยันในเจตนารมณ์ที่จะพัฒนาองค์กรในทุกมิติอย่างรอบด้าน โดยมีการดำเนินงานกิจกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Corporate Social Responsibility : CSR) อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบและสร้างความพึงพอใจให้แก่กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม มีการกำหนดนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีเพื่อพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพ มีระบบการบริหารจัดการที่ดี เป็นที่น่าเชื่อถือในสายตาของประชาชน
ขณะเดียวกัน รฟม. ยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมศักยภาพของบุคลากรให้เป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ควบคู่กับการบ่มเพาะจิตสำนึกเพื่อสังคม ยึดมั่นในหลักการเข้าถึงและเท่าเทียมของคนทุกคน ทุกประเภท คำนึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อให้บุคลากร รฟม. สามารถสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการสานต่อภารกิจของ รฟม. ไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคสมัย ซึ่งในท้ายที่สุดก็จะกลายเป็นผลประโยชน์คืนสู่สาธารณะอย่างยั่งยืน รฟม. ตั้งเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนองค์กรไปสู่รัฐวิสาหกิจชั้นนำของประเทศที่ประชาชนเชื่อมั่นและไว้วางใจ รวมถึงเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ตลอดจนสามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศต่อไป
ติดตามข้อมูลข่าวสาร รฟม. เพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ รฟม. www.mrta.co.th และ เฟซบุ๊กแฟนเพจการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ Call Center รฟม. โทรศัพท์ 0 2716 4044 “รฟม. ร่วมยกระดับเมืองด้วยโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนและนวัตกรรม เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน”