รฟท. เผยทีมเจ้าหน้าที่กู้ภัยจากจีนเดินทางถึงไทย ระดมช่วยเหลือคนงานจากเหตุดินทรุดตัวภายในอุโมงค์รถไฟคลองไผ่
วันนี้ (27 ส.ค.2567) จากกรณีเกิดเหตุดินทรุดตัวภายในอุโมงค์รถไฟคลองไผ่ ช่วงคลองขนานจิตร ต.จันทึก อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นอุโมงค์ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างในโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เมื่อกลางดึกของคืนวันที่ 24 ส.ค.2567 ที่ผ่านมา จนเป็นเหตุให้มีคนงานที่กำลังปฏิบัติงานขุดเจาะอุโมงค์ ติดอยู่ภายใน 3 ราย นั้น
นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการช่วยเหลือคนงานที่ติดอยู่ภายในทั้ง 3 ราย ว่า ล่าสุด วันนี้ (27 ส.ค.2567) เวลาประมาณ 05.00 น. ทีมกู้ภัย Hunan Sunshine จากประเทศจีน ซึ่งเป็นทีมกู้ภัยในพื้นที่ภัยพิบัติ พร้อมอุปกรณ์กู้ภัยเดินทางมาถึงบริเวณจุดเกิดเหตุเพื่อร่วมปฏิบัติงานกับทีมกู้ภัยของ รฟท. ในการเร่งรัดให้ความช่วยเหลือคนงานที่ติดในอุโมงค์
ทั้งนี้ ได้มีการร่วมประชุมสรุปทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์เบื้องต้น และแผนดำเนินการกู้ภัยตามมาตรการทางเทคนิคด้านความปลอดภัย ตลอดจนการกำหนดแผนกู้ภัยร่วมกันในระยะต่อไป ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ที่สั่งการให้ รฟท. ประสานหน่วยงานด้านวิศวกรรมของภาครัฐและเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญมาเสริมทีมกู้ภัยเพื่อเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือได้เร็วมากขึ้น ภายใต้มาตรฐานด้านความปลอดภัยสูงสุด
สำหรับสถานการณ์ช่วยเหลือ ล่าสุด เมื่อคืนวันที่ 26 ส.ค. ที่ผ่านมา ตามที่ได้ดำเนินการสอดท่ออากาศที่ปั๊มออกซิเจนเข้าไปภายใน 2 จุด และดันท่อช่วยชีวิตขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.20 เมตร ความยาวท่อนละ 6 เมตร เข้าไปแล้ว จำนวน 3 ท่อน (ตามแผนที่กำหนดไว้ จำนวน 5 – 6 ท่อน) แต่มีความจำเป็นต้องดึงท่อช่วยชีวิตออกเนื่องจากติดชั้นหิน จึงได้มีการปรับวิธีการให้ความช่วยเหลือเป็นการสร้างกล่องค้ำยัน เพื่อป้องกันดินและหินที่ไหลลงมาเพิ่มเติม ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการให้ความช่วยเหลือ
นอกจากนี้ นายสุรพงษ์ ได้มอบนโยบายให้ รฟท. ตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งรายงานสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ รวมถึง ดำเนินการปรับปรุงความปลอดภัย ให้เป็นไปตามมาตรฐาน แนวทาง มาตรการ ระเบียบ ข้อกำหนด คู่มือการก่อสร้าง เอกสารที่แบบในสัญญาก่อสร้าง และให้ตรวจสอบสัญญาจ้างในส่วนของความรับผิดชอบการประกันภัย มาตรการเยียวยาให้กับผู้เสียหาย
รวมทั้ง สั่งการให้ผู้รับจ้างและที่ปรึกษาควบคุมงานที่อยู่ระหว่างดำเนินโครงการก่อสร้างของ รฟท. ทั่วประเทศ ตรวจสอบความปลอดภัยของทุกโครงการอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวซ้ำอีก โดยมุ่งเน้นให้คำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดของผู้ปฏิบัติงาน และให้ยึดถือการปฏิบัติงานตามคู่มือมาตรฐานความปลอดภัยเป็นสำคัญ และหากเกิดเหตุการณ์ซ้ำขึ้นอีกจะมีบทลงโทษขั้นสูงสุดต่อไป