“สุรพงษ์” สั่ง “ขนส่งฯ” นำรถโดยสารที่ใช้เชื้อเพลิง CNG กว่า 1.3 หมื่นคัน เข้าตรวจสภาพรถภายใน 60 วัน
“สุรพงษ์” สั่ง “กรมการขนส่งทางบก” ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยทุกมิติ นำรถโดยสารที่ใช้ที่ใช้เชื้อเพลิง CNG กว่า 1.3 หมื่นคัน เข้าตรวจสภาพรถภายใน 60 วัน พร้อมประสานสถานศึกษาทั่วประเทศ หากเช่าเหมารถโดยสาร เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยก่อนออกเดินทางทุกครั้ง ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ
วันนี้ (2 ต.ค.2567) นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม หารือกรณีอุบัติเหตุรถบัสนักเรียนไฟไหม้บริเวณใกล้ทางแยกต่างระดับอนุสรณ์สถาน ถนนวิภาวดีรังสิต โดยมี นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ และ นายวิทยา ยาม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และผู้บริหารกรมการขนส่งทางบก ร่วมหารือ ณ ห้องประชุมกระทรวงคมนาคม
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่า จากเมื่อวันที่ 1 ต.ค.2567 เวลาประมาณ 12.08 น. ได้เกิดเหตุรถโดยสารไม่ประจำทางหมายเลขทะเบียน 30-0423 สิงห์บุรี (รถโดยสารชั้นเดียว ปรับอากาศ) บรรทุกเด็กนักเรียนและครูจำนวน 45 ราย เดินทางออกจาก จ.อุทัยธานี เมื่อถึงจุดเกิดเหตุบริเวณถนนวิภาวดีรังสิต หน้าเซียร์รังสิต รถคันดังกล่าวได้เกิดเสียหลักไปเฉี่ยวชนกับรถเก๋ง และไถลเบียดกับแบริเออร์ที่อยู่กลางเกาะถนนวิภาวดี จากนั้นจึงเกิดเพลิงไหม้อย่างรุนแรงเสียหายทั้งคัน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 23 ราย บาดเจ็บ 3 ราย นั้น รถโดยสารคันที่เกิดเหตุเป็นรถโดยสารชั้นเดียวมาตรฐาน 1 (ข) ปรับอากาศ โดยล่าสุดกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้ยกเลิกการประกอบการของผู้ประกอบการรถคันที่เกิดเหตุทั้งหมดแล้ว ทั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมได้มีข้อสั่งการดังนี้
1.ให้ ขบ. เรียกรถโดยสารสาธารณะทั้งประจำทางและไม่ประจำทาง ที่ใช้เชื้อเพลิง CNG ทั้งหมดจำนวน 13,426 คัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย.2567) เข้ารับการตรวจสภาพรถภายใน 60 วัน
2.ยกระดับมาตรฐานการประกอบการขนส่งรถโดยสารประจำทาง (30) ทั้งระบบ (การประกอบการ การตรวจสภาพ การให้บริการ)
3.สำหรับกรณีให้บริการรถโดยสารประจำทาง (30) ให้ ขบ. บูรณาการร่วมกับกระทรวงศึกษาและสถานศึกษาทั่วประเทศกรณีนำรถเช่าเหมาหรือรถโดยสารไม่ประจำทางไปใช้บริการ โดยให้ประสานงานกับสำนักงานขนส่งจังหวัดเพื่อตรวจสอบความปลอดภัยก่อนออกเดินทางทุกครั้ง
4.ออกกฎหมายให้มีพนักงานประจำรถเช่นเดียวกับรถโดยสารประจำทาง โดยพนักงานและผู้ประจำรถต้องได้รับการอบรมและผ่านการทดสอบหลักสูตรการเผชิญเหตุและการช่วยเหลือผู้โดยสาร (Crisis Management)
5.ออกกฎหมายระเบียบเพื่อให้ผู้ประกอบการต้องแนะนำข้อมูลและแนวทางเผชิญเหตุฉุกเฉินในการใช้บริการ (เช่นเดียวกับสายการบิน)
“กระทรวงคมนาคมขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ วันนี้เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยกระดับมาตรฐานทุกมิติ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก และฝากถึงผู้ประกอบการขอให้ช่วยตรวจสอบรถ พนักงานขับรถ และผู้ประจำรถ ให้เข้มข้นยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียอีกต่อไป” นายสุรพงษ์ กล่าว