แฮปปี้!! “สนามบินแม่ฮ่องสอน – เลย – น่านนคร” คว้ารางวัล “EIA Monitoring Awards 2024” รักษ์โลก – เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
“มนพร” ปลื้ม “สนามบินแม่ฮ่องสอน – เลย – น่านนคร” ได้รับรางวัล “EIA Monitoring Awards 2024” รักษ์โลก – เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม – ใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
วันนี้ (15 ต.ค.2567) นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวชื่นชมกรมท่าอากาศยาน (ทย.) หลังได้รับรางวัล EIA Monitoring Awards 2024 ภายใต้แนวคิด “EIA For a Sustainable FUTURE” จาก สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีสถานประกอบการที่ได้รับรางวัลทั้งสิ้นจำนวน 65 ราย ซึ่งในปีนี้ ท่าอากาศยานในความดูแลของ ทย. ได้รับคัดเลือกให้เข้ารับรางวัล ประเภทโครงการหน่วยงานรัฐ ระดับดีเด่น ได้แก่ ท่าอากาศยานแม่ฮ่องสอน และระดับรางวัลชมเชย ได้แก่ท่าอากาศยานเลย และท่าอากาศยานน่านนคร ซึ่งรางวัลดังกล่าวเป็นการการันตีว่าประชาชนและผู้ใช้บริการ ณ ท่าอากาศยานจะได้รับการบริการในระดับมาตรสากล ควบคู่กับการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
นางมนพร กล่าวต่อว่า กระทรวงคมนาคมภายใต้การบริหารของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายในการขับเคลื่อนให้ทุกหน่วยงานสนับสนุนโอกาสในการใช้พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Logistics) และลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่ง ทย. ได้ขานรับนโยบายดังกล่าว ด้วยการปฏิบัติตามเงื่อนไขตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด และมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาและปรับปรุงการบริหารจัดการท่าอากาศยานบนพื้นฐานการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายไปสู่การเป็นท่าอากาศยานที่ดำเนินงานโดยใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการใช้ทรัพยากรที่ไม่จำเป็น จัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างเหมาะสม และจัดการของเสียอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ สอดคล้องตามประกาศนโยบายด้านการสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์พลังงานของ ทย.
อีกยังมีความมุ่งมั่นในการดำเนินการและจัดการท่าอากาศยานในระดับมาตรฐานสากล สำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อมและชุมชน และมีความห่วงใยในการคุ้มครองสุขภาพ ความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงการมีโครงการต่าง ๆ ภายในท่าอากาศยาน เช่น โครงการส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม โดยใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่เหมาะสม ใช้วัสดุอุปกรณ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การหมุนเวียนของที่ไม่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ท่าอากาศยาน เช่น โครงการคัดแยกขยะรีไซเคิล จุดทิ้งของเหลวที่ไม่สามารถนำติดตัวไปกับอากาศยานได้ ณ จุดตรวจค้น โครงการติดตั้งเสาไฟส่องสว่างแผงโซล่าเซลล์ (Solar cell) บริเวณริมรั้วโดยรอบเขตการบิน โครงการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ภายในพื้นที่อากาศยาน โครงการที่ชาร์ตแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อให้บริการแก่ผู้โดยสาร โครงการ “สำนักงานปลอดขยะ” (Zero Waste Office)
นอกจากนี้ ทย. ยังได้ดำเนินโครงการด้านมวลชนสัมพันธ์ โดยให้ความร่วมมือทางสังคม วัฒนธรรม และประเพณีกับชุมชนและท้องถิ่นบริเวณรอบท่าอากาศยานอย่างสม่ำเสมอ เช่น การเปิดโอกาสให้สถาบันการศึกษาต่าง ๆ เข้าศึกษาดูงาน ทัศนศึกษา หรือเข้ามาเยี่ยมชมพื้นที่ภายในท่าอากาศยาน การเปิดพื้นที่ให้ประชาชนที่อยู่รอบ ๆ ท่าอากาศยาน มาออกกำลังกายเพื่อสุขภาวะที่ดี ตลอดจนการเข้าร่วมกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาร่วมมือกับหน่วยงานและชุมชนในวันสำคัญต่าง ๆ
นายดนัย เรืองสอน อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) กล่าวว่า ทย. มีความมุ่งมั่นในการส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาให้ท่าอากาศยานทุกแห่งที่อยู่ในความดูแล ทย. ได้รับรางวัลสถานประกอบการที่ปฏิบัติตามมาตรการในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA Monitoring) ในปีต่อ ๆ ไป เพื่อเป็นการยกระดับให้ท่าอากาศยานของ ทย. และเป็นการสร้างโอกาสการมีส่วนร่วมกับประชาชนในทุกมิติ ในการดำเนินงานต่าง ๆ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด