“มนพร” เร่งรัด กทท. ขุดลอกร่องน้ำการเดินเรือ – แอ่งจอดเรือท่าเรือแหลมฉบัง ลดการตื้นเขิน – รักษาระดับความลึกร่องน้ำ เพิ่มขีดความสามารถรองรับสินค้า ความปลอดภัยเรือขนส่งสินค้า สร้างความเชื่อมั่นผู้ใช้บริการ ยกระดับท่าเรือสู่มาตรฐานระดับโลก
วันนี้ (27 พ.ย.2567) นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ท่าเรือแหลมฉบัง เป็นท่าเรือที่มีความสำคัญในการค้าระดับสากล สนับสนุนการนำเข้า-ส่งออกสินค้าทั้งภายในประเทศและในระดับภูมิภาค ซึ่งปัจจุบัน ท่าเรือแหลมฉบัง อยู่ในลำดับที่ 17 ของอันดับท่าเรือชั้นนำทั่วโลก ดังนั้น การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังให้เป็นท่าเรือชั้นนำ พร้อมรองรับการสัญจรของเรือสินค้าขนาดใหญ่ ที่มีการเข้ามาใช้บริการที่ท่าเรือแหลมฉบังเพิ่มมากขึ้น การพัฒนาบำรุงรักษาร่องน้ำทางเดินเรือให้มีระดับความลึกในเกณฑ์มาตรฐานพร้อมใช้งานตลอดเวลา ถือเป็นหัวใจสำคัญอย่างยิ่งของการขนส่งสินค้าทางทะเล ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการในการใช้ท่าเทียบเรือ อีกทั้งลดปัญหาการสะสมของตะกอนดิน ทำให้เรือขนส่งสินค้าสามารถเดินเรือผ่านร่องน้ำมายังท่าเรือได้อย่างสะดวก เพื่อดำเนินกิจกรรมการขนส่งขนถ่ายสินค้ามีความต่อเนื่องและปลอดภัย
นางมนพร กล่าวต่อว่า กำชับให้ กทท. เร่งดำเนินการขุดลอกร่องน้ำทางเดินเรือ (Fairway) และแอ่งจอดเรือ (Basin) ที่ 1 และ 2 ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อลดปัญหาร่องน้ำตื้นเขินและลดปริมาณตะกอนดินสะสมในแอ่งจอดเรือ พร้อมดำเนินการบำรุงรักษาความลึกร่องน้ำให้ได้ระดับและอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา รองรับในการนำเรือบรรทุกสินค้าผ่านเข้า-ออก เทียบท่าได้อย่างสะดวก ลดปัญหาการล่าช้าในการขนส่งสินค้าทางทะเล โดยการปฏิบัติภารกิจขุดลอกร่องน้ำครั้งนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อทุกภาคส่วน ทั้งในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่งทางทะเล สร้างความเชื่อมั่นในการให้บริการแก่ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือในด้านความปลอดภัยในการเดินเรือทางทะเล
ด้าน นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท. กล่าวว่า แผนการขุดลอกร่องน้ำการเดินเรือและ แอ่งจอดเรือ มีกำหนดดำเนินการระหว่างเดือนตุลาคมถึง ธ.ค.2567 ซึ่ง กทท. ให้ความสำคัญและเร่งรัด ในการขุดลอกครั้งนี้ โดยท่าเรือแหลมฉบังและฝ่ายการร่องน้ำ ได้นำเทคโนโลยีโดรนมาช่วยในการสำรวจพื้นผิวใต้น้ำเพื่อความถูกต้องและแม่นยำมากยิ่งขึ้น พร้อมจัดเรือขุดเข้าดำเนินการขุดลอกร่องน้ำทางเดินเรือ (Fairway) ให้มีความลึกในระดับ 16 เมตร และแอ่งจอดเรือ (Basin) ที่ 1 ให้มีความลึกในระดับ 14 เมตร แอ่งจอดเรือ (Basin) ที่ 2 ให้มีความลึกในระดับ 16 เมตร ซึ่งความคืบหน้าในปัจจุบันได้ทำการขุดลอกพื้นที่หน้าท่าเทียบเรือ C – 2 ในแอ่งจอดเรือ (Basin) ที่ 2 เรียบร้อยแล้ว และจะเร่งดำเนินการขุดลอกในพื้นที่แอ่งจอดเรือ (Basin) ที่ 1 และร่องน้ำทางเดินเรือ (fairway) ให้เสร็จโดยเร็วเป็นลำดับต่อไป
ทั้งนี้ ระหว่างการดำเนินการขุดลอกจะติดตั้งเครื่องมือและสัญญาณต่างๆ เช่น ไฟสัญญาณอันตราย ป้ายเตือน ฯลฯ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อการสัญจรทางน้ำหรือกิจกรรมอื่นๆ ในบริเวณพื้นที่โครงการ โดยจะติดตามงานการขุดลอกพัฒนาบำรุงรักษาร่องน้ำในทุกพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผลดำเนินงานแล้วเสร็จตามแผน ซึ่งจะส่งผลให้การนำเรือสินค้าเข้า-ออก มีความคล่องตัว ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการให้บริการ ยกระดับการบริหารจัดการให้มีมาตรฐาน เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับสินค้า เพื่อมุ่งสู่การเป็นท่าเรือชั้นนำในระดับสากล