Transport

“ศักดิ์สยาม” เยือนกรุงเก่าอัปเดตโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม

“ศักดิ์สยาม” นำทีมหน่วยงานในสังกัดเช็กโครงการ “บก-น้ำ-ราง” จ.พระนครศรีอยุธยา ยกระดับประสิทธิภาพคมนาคมขนส่งสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย

วันนี้ (2 มี.ค.2566) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้ประชุมติดตามความคืบหน้าผลการดำเนินงานโครงการสำคัญของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วยคณะผู้บริการหน่วยงานในสังกัด โดยมีนายธีรศักดิ์ โฉมศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาให้การต้อนรับ และหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดในพื้นที่ ร่วมประชุม ณ แขวงทางพระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา

ตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งให้ครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนมีความสะดวก ปลอดภัยในการเดินทางและการขนส่งสินค้า สามารถเข้าถึงการให้บริการได้อย่างเท่าเทียม สนับสนุนการค้า การท่องเที่ยวสู่การพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่และเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการตามนโยบาย โดยมอบให้หน่วยงานในสังกัดเร่งรัดขับเคลื่อนพัฒนาระบบคมนาคมไปสู่ความยั่งยืน ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้เร่งพัฒนาโครงข่ายคมนาคมในทุกมิติ ทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านโครงข่ายคมนาคม ส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศ เร่งรัดการเปิดให้บริการโครงข่ายคมนาคมเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่

การพัฒนาโครงข่ายทางหลวง ได้เปิดให้บริการแล้ว 5 โครงการ รวมระยะทาง 35.241 กิโลเมตร (กม.) ได้แก่ 1.โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 329 (เดิม) สายภาชี-บางปะหัน 2.โครงการก่อสร้างปรับปรุงทางแยกต่างระดับบางปะอิน 3.โครงการก่อสร้าง ทล.33 อ.บางปะหัน-อ.นครหลวง-อ.ภาชี-หินกอง (329 เดิม) ตอน บ.ภาชี-บ.หินกอง ตอน 1 4.โครงการก่อสร้าง ทล.33 อ.บางปะหัน-อ.นครหลวง-อ.ภาชี-หินกอง (329 เดิม) ตอน บ.ภาชี-บ.หินกอง ตอน 2 และ 5.โครงการก่อสร้าง ทล.3056 สาย ต.บ้านหว้า-อ.ภาชี ตอน 2

อยู่ระหว่างดำเนินการ 9 โครงการ 236.341 กม. ได้แก่ 1.โครงการก่อสร้างทางคู่ขนาน ทล.3901 ทางบริการด้านนอก ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ด้านตะวันตก) ด้านซ้ายทาง ตอน 2 12.759 กม. สถานะความก้าวหน้า 77.06% คาดเปิดให้บริการปี 2566 2.โครงการก่อสร้างทางคู่ขนาน ทล.3902 ทางบริการด้านนอก ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ด้านตะวันตก) ด้านขวาทาง ตอน 2 ระยะทาง 12.759 กม.  คืบหน้า 78.21% คาดเปิดบริการปี 2566 3.โครงการก่อสร้างเพิ่มช่องจราจร ทล.3111 สาย อ.สามโคก- อ.เสนา 12.759 กม. คืบหน้า 78.21% คาดเปิดบริการปี 2566 4.โครงการก่อสร้างเพิ่มช่องจราจร ทล.3056 สาย ต.บ้านหว้า-อ.ภาชี ตอน 1 ระยะทาง 9.30 กม. คืบหน้า 82.53% คาดเปิดบริการ 2566

5.โครงการก่อสร้างสะพานลอยกลับรถบน ทล.1 บริเวณ บ.ชะแมบ (ขาเข้า) 5.523 กม. คืบหน้า 75.15% คาดเปิดบริการปี 2566 6.โครงการก่อสร้างสะพานลอยกลับรถบน ทล.1 บริเวณ บ.ชะแมบ (ขาออก) คืบหน้า 4.64% คาดเปิดบริการปี 2568 7.โครงการก่อสร้างปรับปรุงซ่อมแซมสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บน ทล.309 (สะพานปรีดี-ธำรง) คืบหน้า 4.47% คาดเปิดบริการปี 2568 8.โครงการก่อสร้างสะพานกลับรถบน ทล.1 บริเวณ บ.ลำไทร (ขาออก) และ 9.โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 หรือ M6 สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา คาดเปิดบริการ ปี 2569

แผนงานในอนาคต 12 โครงการ 76.524 กม. ประกอบด้วย 1.โครงการก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟบน ทล.3470 สายท่าเรือ-ภาชี 2.โครงการก่อสร้างสะพานกลับรถบน ทล.1 บริเวณ บ.สนับทึบ 3.โครงการก่อสร้างทางขนาน ทล.1 บริเวณ บ.ชะแมบ 3.350 กม. 4.โครงการก่อสร้างทางแนวใหม่เชื่อม M6-ทล.32 ระยะทาง 4.760 กม. 5.โครงการก่อสร้างทางแนวใหม่เชื่อมวงแหวนรอบนอก กทม. ด้านตะวันตก-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันออก 4.237 กม. 6.โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับจุดตัด ทล.347 ตัดทล.3263 (แยกวรเชษฐ์)

7.โครงการก่อสร้างเพิ่มช่องจราจร ทล.3267 สายอ่างทอง-แยกบางโขมด 25.857 กม. 8.โครงการก่อสร้างเพิ่มช่องจราจร  ทล.356 ทางเลี่ยงเมืองอยุธยาด้านใต้ 9.401 กม. 9.โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับจุดตัด ทล.32 ตัด ทล.33 (แยกตลาด อ.พันธ์) 10. โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับจุดตัด ทล.309 ตัด ทล.347 (แยกทุ่งมะขามหย่อง) 11.โครงการก่อสร้างเพิ่มช่องจราจร  ทล.309 สายอยุธยา-บางเสด็จ 5.40 กม. และ 12.โครงการก่อสร้างเพิ่มช่องจราจร ทล.3501 สายอ่างทอง-บ.บางหลวงโดด 23.519 กม.

การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงชนบท โครงการที่ได้รับงบประมาณ 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 55 โครงการ แบ่งเป็น 1.งานก่อสร้างทางและสะพาน 7 โครงการ 2.งานบำรุงรักษาทางและสะพาน 22 โครงการ 3.งานอำนวยความปลอดภัย 26 โครงการ โครงการขนาดใหญ่ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2566 โครงการก่อสร้างสะพานข้ามคลองวัดยม อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา 74 กม.

โครงการขอรับการจัดสรรงบประมาณปี 2567 จำนวน 76 โครงการ แบ่งเป็น 1.งานก่อสร้างทางและสะพาน  15 โครงการ 2.งานบำรุงรักษาทางและสะพาน 35 โครงการ 3.งานอำนวยความปลอดภัย 26 โครงการ และมีโครงการขนาดใหญ่ที่เตรียมขอรับการจัดสรรงบประมาณในอนาคต 2 โครงการ 20.46 กม. โครงการก่อสร้างถนนสาย อย.3011 แยก ทล.347-บ.โคก อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา 13.21 กม. โดยการก่อสร้างขยายถนนคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด 2 ช่องจราจร 13.21 กม. และโครงการก่อสร้างถนนสาย อย.3046 แยก ทล.309-บ.ตลิ่งชัน อ.วังน้อย, บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา 7.25 กม. โดยการก่อสร้างขยายถนนเดิมจาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร ผิวทางเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก

แผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค MR-MAP เป็นโครงข่ายคมนาคมที่ประกอบไปด้วยถนนมอเตอร์เวย์และทางรถไฟ พัฒนาอยู่ในพื้นที่บริเวณเดียวกัน เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางในพื้นที่ภาคใต้ กับภาคอื่นของประเทศไทย ให้สามารถเดินทางได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ส่งเสริมการขนส่งสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง โดยมีแนวเส้นทางที่ผ่าน จ.พระนครศรีอยุธยา ได้แก่ MR10 วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ รอบที่ 3 และเส้นทางเชื่อมต่อจุดสิ้นสุด M6 บางปะอิน-นครราชสีมา) ต.โพสามหาว อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา

การเชื่อมโยงระบบการขนส่งสาธารณะ การพัฒนาเส้นทางการเดินรถโดยสารประจำทางให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ และเชื่อมโยงกับเครือข่ายการขนส่งอื่นทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ การเชื่อมโยงระบบการขนส่งสาธารณะจากสถานีขนส่งผู้โดยสาร ประกอบด้วย รถหมวด 1 จำนวน 8 เส้นทาง รถหมวด 2 จำนวน 6 เส้นทาง รถหมวด 3 จำนวน 18 เส้นทาง รถหมวด 4 จำนวน 37 เส้นทาง

การพัฒนาทางราง การพัฒนาด้านระบบรางในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ได้แก่ การพัฒนาทางรถไฟสายใหม่ เส้นทางกาญจนบุรี-สุพรรณบุรี-ชุมทางบ้านภาชี การพัฒนารถไฟความเร็วสูง มี 2 เส้นทาง 1.กรุงเทพฯ-นครราชสีมา 253 กม. อยู่ระหว่างก่อสร้าง คาดเปิดให้บริการปี 2570 2.กรุงเทพฯ-พิษณุโลก 380 กม. อยู่ระหว่างทบทวนผลการศึกษาความเหมาะสม คาดเปิดให้บริการปี 2571

การพัฒนาทางน้ำการพัฒนาทางน้ำที่สำคัญในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ประกอบด้วย 1.โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งพังแม่น้ำลพบุรี บริเวณหมู่ที่ 6 ต.ขยาย อ.บางประหัน ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อเดือน ม.ค.2566 2.โครงการก่อสร้างหลักผูกเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา ต.เกาะเรียน อ.พระนครศรีอยุธยา ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อเดือน ก.ค.2565 3.โครงการขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำภายในประเทศคลองสาละโว้ ต.สนามชัย อ.บางไทร ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อเดือน มี.ค.2565

4.โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเดินเรือในแม่น้ำป่าสัก ระยะ 12 ตอนที่  อยู่ระหว่างดำเนินการ ผลงาน 83.53% 5.โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเดินเรือในแม่น้ำป่าสัก ระยะ 2 ตอนที่ 2 อยู่ระหว่างดำเนินการ ผลงาน 0.2% 6.โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเดินเรือในแม่น้ำป่าสัก ระยะ 2 ตอนที่ 2 อยู่ระหว่างประกวดราคา 7.โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเดินเรือในแม่น้ำป่าสัก ระยะ 4 ตอนที่ 2 ระยะทาง 2,440 เมตร เสนอของบประมาณปี 2567

ทั้งนี้เน้นย้ำให้พัฒนาโครงข่ายคมนาคมต้องสะดวก รวดเร็ว ประหยัด ราคาเป็นธรรม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมมีข้อสั่งให้ดำเนินโครงการต่าง ๆ ต้องพิจารณาความพร้อม ความคิดเห็นและความต้องการของประชาชน และสภาพพื้นที่ในปัจจุบันประกอบด้วย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมต้องบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ภาคประชาชน และภาคเอกชน เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิผลสูงสุด

นอกจากนี้การบริหารโครงการ ในขั้นตอนการเวนคืนจะต้องคำนึงถึงผลกระทบที่ประชาชนจะได้รับด้วยเป็นสำคัญ ในขั้นตอนการศึกษาและการออกแบบให้คำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ต้องไม่ดำเนินการออกแบบที่ไปลดทอนความสะดวกหรือประสิทธิภาพในการคมนาคมของประชาชน และควรผนวกอัตลักษณ์ของความเป็นไทยผสมผสานกับความร่วมสมัยในการออกแบบโครงการด้วย ในขั้นตอนการก่อสร้างให้ควบคุมและเน้นย้ำมาตรการด้านความปลอดภัยเป็นสำคัญ และต้องควบคุมการดำเนินโครงการและบริหารงบประมาณให้เป็นไปตามแผนการดำเนินงาน

รวมถึงให้พิจารณาการใช้แบริเออร์ในการกั้นแบ่งทิศทางการจราจรเพื่อยกระดับความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของประชาชน ให้พิจารณานำเทคโนโลยี EV เช่น EV Bus มาใช้ในระบบขนส่งสาธารณะ และการประชาสัมพันธ์ให้ดูมิติทางการสื่อสารให้ครบถ้วนและครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่ม มีการใช้งาน social media และ influencer รวมถึงให้เพิ่มความถี่ในการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การดำเนินงานต่าง ๆ ให้ยึดกฎ ระเบียบ ข้อกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด

Loading

Back to top button