Transport

“กทพ.” อัปเดต 10 โปรเจ็คท์ทางด่วนทั่วไทย 3.6 แสนล้าน

เช็กเลย!! สถานะ 10 โครงการทางด่วน กรุงเทพ-ปริมณฑล-ภูมิภาค ระยะทาง 224.28 กม. วงเงิน 368,551 ล้านบาท “กทพ.” ดำเนินการถึงไหนแล้ว?

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ระบุว่า ปัจจุบันทางพิเศษ หรือทางด่วนได้เปิดให้บริการแล้ว 8 สายทาง ระยะทาง 224.6 กิโลเมตร (กม.) ในขณะนี้และอนาคตมีแผนจะดำเนินการทางพิเศษในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล และภูมิภาค จำนวน 10 โครงการ ระยะทางรวม 224.28 กม. วงเงินรวม 368,551 ล้านบาท มีความคืบหน้าดังนี้

1.โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ระยะทาง 18.7 กม. วงเงิน 31,244 ล้านบาท

จุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมต่อกับโครงการทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 หรือถนนพระราม 2 ของกรมทางหลวง (ทล.) บริเวณ กม.13+000 ของถนนพระราม 2 ก่อสร้างเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ซ้อนทับไปตามแนวเกาะกลางถนนพระราม 2 และก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาใหม่ขนาด 8 ช่องจราจร สิ้นสุดโครงการบริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่

ปัจจุบันมีความคืบหน้าดังนี้ สัญญาที่ 1 ก่อสร้างแล้วผลงาน 21.14% สัญญาที่ 2 ก่อสร้างแล้วผลงาน 64.90% สัญญาที่ 3 ก่อสร้างแล้วผลงาน 22.29% สัญญาที่ 4 ก่อสร้างแล้วผลงาน 99.21% และ สัญญาที่ 5 อยู่ระหว่างจัดทำร่างขอบเขตของงาน (TOR) งานจ้างระบบจัดเก็บค่าผ่านทางแบบไม่มีไม้กั้น โดยโครงการดังกล่าวจะเปิดให้ทดลองใช้ฟรีประมาณ 6 เดือน ก่อนจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบเดือน ธ.ค.2567

2.โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ระยะที่ 1 (ตอน N2 ถนนประเสริฐมนูกิจ-ถนนวงแหวนรอบนอกฯ ด้านตะวันออก) และระยะที่ 2 (ส่วนทดแทนตอน N1 ศรีรัช-ถนนประเสริฐมนูกิจ) ระยะทางรวม 22.3 กม. วงเงินรวม 48,707 ล้านบาท แบ่งเป็น

ระยะที่ 1 ตอน N2 ระยะทาง 11.3 กม. วงเงิน 16,960 ล้านบาท จุดเริ่มต้นบริเวณ กม.1+000 ของถนนประเสริฐมนูกิจ เป็นทางพิเศษยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร เชื่อมต่อทางพิเศษฉลองรัชบริเวณทางแยกฉลองรัช สิ้นสุดเชื่อมต่อกับถนนวงแหวนรอบนอกฯ ด้านตะวันออก (ทล.9) บริเวณทางแยกต่างระดับลาดบัวขาว

ปัจจุบัน กทพ. ได้นำเสนอกระทรวงคมนาคม เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบนำเรื่องขออนุมัติดำเนินโครงการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบตามขั้นต่อไป

ระยะที่ 2 ตอน N1 ระยะทาง 11 กม. วงเงิน 31,747 ล้านบาท จุดเริ่มต้นเชื่อมต่อจากทางพิเศษศรีรัชที่บริเวณทางแยกต่างระดับงามวงศ์วานเป็นอุโมงค์ขนาด 4 ช่องจราจรมุ่งหน้าทางทิศตะวันออกไปตามแนวถนนงามวงศ์วานผ่านมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และยกระดับเชื่อมต่อกับทางพิเศษตอน N2

ปัจจุบัน กทพ. อยู่ระหว่างศึกษาคาวมเหมาะสมโครงการฯ มีผลดำเนินการ 41.49% โดยกำหนดจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) วันที่ 5 เม.ย.2566

3.โครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา) ระยะทาง 16.21 กม. วงเงิน 24,060 ล้านบาท

จุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมต่อทางพิเศษฉลองรัชที่ด่านเก็บค่าผ่านทางจตุโชติบริเวณ ถนนวงแหวนรองนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก (ถนนกาญจนาภิเษก) มุ่งหน้าทิศตะวันออกผ่านถนนหทัยราษฎร์ และถนนมินิตใหม่ สิ้นสุดทางหลักบริเวณ กม.14+000 และมีทางลงเชื่อมต่อถนนลำลูกกา

สถานะโครงการ เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2566 ครม. อนุมัติให้ กทพ. ดำเนินโครงการ ปัจจุบัน กทพ. อยู่ระหว่างจัดทำรายงานการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงาน EIA สำหรับส่วนเชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกฯ รอบที่ 3 หรือ MR10 ด้านตะวันออก คาดเริ่มก่อสร้างในปี 2567 เปิดบริการปี 2570

4.โครงการแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษ ระยะที่ 1 ระยะทาง 17 กม. วงเงิน 34,028 ล้านบาท

โครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 และโครงการแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางพิเศษ มีจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณทางแยกต่างระดับงามวงศ์วาน เป็นทางพิเศษยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร (2 ช่องจราจรต่อทิศทาง) ซ้อนทับไปตามแนวสายทางของทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) มุ่งทิศใต้ เลี้ยวซ้ายไปทางทิศตะวันออกบริเวณบริเวณทางแยกต่างระดับพญาไท ผ่านทางแยกต่างระดับมักกะสัน สิ้นสุดที่บริเวณหลังด่านเก็บค่าผ่านทางอโศก 4 ของทางพิเศษศรีรัช

ปัจจุบัน กทพ. อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมโครงการ ผลงาน 73.54% คาดจะจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 2 ในเดือน เม.ย.2566

5.โครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะทาง 18.5 กม. วงเงิน 21,892 ล้านบาท

จุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับทางพิเศษศรีรัชส่วน D บริเวณทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ ไปตามแนวทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 สิ้นสุดบริเวณ กม.18 บนทางหลวงระหว่างเมืองหมายเลข 7 แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง

ปัจจุบัน กทพ. อยู่ระหว่างดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างที่ปรึกษา เพื่อศึกษาความเหมาะสม และออกแบบกรอบรายละเอียดโครงการ คาดว่าจะเริ่มศึกษาความเหมาะสมเดือน พ.ค.2566

6.โครงข่ายทางสนับสนุนการเชื่อมต่อระบบขนส่งหลักของประเทศช่วง จ.สมุทรสาคร-จ.สมุทรปราการ (สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ และถนนเชื่อมต่อ) ระยะทาง 71.60 กม. วงเงิน 109,250 ล้านบาท

จุดเริ่มต้นโครงการบน ทล.35 ที่ จ.สมุทรสาคร ข้ามแม่น้ำท่าจีน และข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ.สมุทรปราการ สิ้นสุดโครงการเชื่อมต่อกับโครงข่าย MR10 (ถนนวงแหวนรอบที่ 3 ด้านทิศตะวันออก)

ปัจจุบัน กทพ. อยู่ระหว่างจัดทำ TOR เพื่อศึกษาความเหมาะสม และออกแบบกรอบรายละเอียดโครงการ

7.โครงการพิเศษสายกระทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต ระยะทาง 3.98 กม. วงเงิน 14,670 ล้านบาท

จุดเริ่มต้นโครงการที่ ต.ป่าตอง บริเวณจุดตัดถนนพระเมตตา ก่อสร้างเป็น ทางยกระดับและอุโมงค์ขนาด 4 ช่องจราจรต่อทิศทาง โดยเป็นทางยกระดับข้ามถนนพิศิษฐ์กรณีย์ จนถึงเขานาคเกิด แล้วจึงเป็นอุโมงค์คู่ หลังจากนั้นเป็นทางยกระดับสิ้นสุดโครงการที่ ต.กระทู้ บริเวณจุดตัดกับ ทล.4029

ปัจจุบัน กทพ. อยู่ระหว่างการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โดยให้เอกชนยื่นข้อเสนอ เพื่อร่วมคัดเลือกเป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการ วันที่ 7 เม.ย.2566 คาดจะก่อสร้างในปี 2567 เปิดบริการปี 2570

8.โครงการทางพิเศษสายเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ จ.ภูเก็ต ระยะทาง 30 กม. วงเงิน 35,800 ล้านบาท

จุดเริ่มต้นโครงการที่ ต.เทพกระษัตรี บริเวณจัดตัดกับ ทล.4026 และมีแนวเส้นทางไปทางทิศใต้ขนานไปกับ ทล.402 จนถึงบริเวณจุดตัดกับ ทล.4024 (ถนนเลี่ยงเมือง) ที่ ต.เกาะแก้ว โดยมีแนวเส้นทางเชื่อมต่อจากช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว บริเวณ ต.ศรีสุนทร ลุงไปทางทิศใต้ขนานไปกับ ทล.4024 จนไปสิ้นสุดโครงการที่ ต.กะทู้ บริเวณจุดตัดกับ ทล.4029 เชื่อมต่อกับโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต

ปัจจุบัน กทพ. อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมโครงการมีผลการดำเนินงาน 70.96% คาดว่าจะจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 3 เดือน พ.ค.2566

9.โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย ระยะทาง 20 กม. วงเงิน 33,900 ล้านบาท จุดเริ่มต้นโครงการจากแผ่นดินใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช หรือ จ.สุราษฎร์ธานี มีรูปแบบเป็นสะพานขึง (Cable-Stayed Bridge) เชื่อมข้ามทะเลอ่าวไทยไปสิ้นสุดโครงการที่บริเวณ ต.ตลิ่งงาม อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี

ปัจจุบัน กทพ. อยู่ระหว่างดำเนินการจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดโครงการ คาดเริ่มศึกษาความเหมาะสมเดือน เม.ย.2566

10.โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง ระยะทาง 6 กม. วงเงิน 15,000 ล้านบาท จุดเริ่มต้นโครงการพื้นที่ อ.แหลมงอบ จ.ตราด เชื่อมข้ามทะเลอ่าวไทยสิ้นสุดโครงการที่ อ.เกาะช้าง จ.ตราด

ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมมีข้อสั่งการให้ กทพ. ประสานดำเนินงานร่วมกับกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ดำเนินการสำรวจศึกษาและออกแบบสะพานข้ามเกาะช้าง เมื่อวันที่ 10 มี.ค.2566 ได้ประสานขอความอนุเคราะห์ข้อมูลจาก ทช. เพื่อนำมาประกอบการศึกษาความเหมาะสม กทพ. อยู่ระหว่างจัดทำ TOR เพื่อศึกษาความเหมาะสม และออกแบบกรอบรายละเอียดโครงการ

Loading

Back to top button