Transport

“สนข.” เร่งศึกษาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้า-สนามบินสะดวก ปลอดภัย

“คมนาคม” ลุยแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 14 สาย ระยะทาง 553.41 กม. เปิดบริการแล้ว 7 สี 11 เส้นทาง 211.94 กม. กำลังก่อสร้าง 6 สาย 135.80 กม. เร่งศึกษาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงการเดินทางทุกกลุ่มวัย เข้าถึงสถานีรถไฟฟ้า-สนามบินสะดวก ปลอดภัย

วันนี้ (31 พ.ค.2566) เวลา 09.00 น. นายชยธรรม พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม มอบให้ นายชาครีย์ บำรุงวงศ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการขนส่งทางบก เป็นประธานเปิดการสัมมนาครั้งที่ 2 การนำเสนอผลการศึกษา/แถลงผลงาน โครงการศึกษาการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงรูปแบบการเดินทาง เพื่อเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าและสนามบินในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมีนายสุรพงษ์ เมี้ยนมิตร นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน และสื่อมวลชนเข้าร่วมการสัมมนา ณ ห้องพญาไท 4 โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท กรุงเทพฯ

นายชาครีย์ บำรุงวงศ์ กล่าวว่า กระทรวงคมนาคม โดย สนข. ได้ดำเนินโครงการศึกษาการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงรูปแบบการเดินทาง เพื่อเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าและสนามบินในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล สำหรับเป็นแผนแม่บทให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปรับปรุง เพื่อยกระดับการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะในภาพรวมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างสะดวก ปลอดภัย ตรงเวลา ราคาสมเหตุสมผล เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเข้าถึงง่ายสำหรับคนทุกกลุ่ม

สำหรับการสัมมนาในวันนี้จะได้รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผลการศึกษาจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการเชื่อมต่อการเดินทาง ซึ่งจะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ไปปรับปรุงให้ผลการศึกษามีความสมบูรณ์มากขึ้น เพื่อให้การบริการประชาชนดียิ่งขึ้นต่อไป

กระทรวงคมนาคมได้จัดทำแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (M-MAP) จำนวนเส้นทางทั้งสิ้น 14 สาย รวมระยะทาง 553.41 กิโลเมตร (กม.) ปัจจุบันได้เปิดให้บริการแล้ว 7 สี 11 เส้นทาง ระยะทาง 211.94 กม. อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 6 สาย ระยะทาง 135.80 กม. และโครงการที่จะดำเนินการในอนาคตอีกระยะทาง 204 กม.

การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคด้านการขนส่งตามอารยสถาปัตย์ (Universal Design) และการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนหลักให้เชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนรอง จะช่วยยกระดับการขนส่งให้สามารถรองรับและอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้ประชาชนทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการ และเด็ก สามารถเข้าถึงบริการขนส่งสาธารณะได้อย่างสะดวกและปลอดภัย

อีกทั้งการจัดให้มีบริการระบบ Feeder เพื่อรวบรวมประชาชนที่อยู่ห่างจากแนวเส้นทางรถไฟฟ้ามาส่งยังสถานีรถไฟฟ้าถือเป็นการจูงใจประชาชนให้เปลี่ยนจากการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลมาใช้บริการขนส่งสาธารณะมากขึ้น เพื่อช่วยลดปัญหาจราจร นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมมีนโยบายสนับสนุนการขนส่งที่ใช้พลังงานสะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การสนับสนุนให้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) ในการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ ในปัจจุบันรถโดยสารสาธารณะได้เริ่มปรับเปลี่ยนมาใช้รถที่พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดมลพิษทางอากาศ และปัญหาฝุ่น PM 2.5 จากภาคการขนส่ง และลดต้นทุนด้านพลังงานในภาคการคมนาคมขนส่งได้อย่างยั่งยืน

Loading

Back to top button