“คมนาคม” ลงพื้นที่สุ่มตรวจสถานีตรวจสอบน้ำหนัก สกัดสติกเกอร์ส่วยบรรทุก
“คมนาคม” สั่ง 3 หน่วยงานสังกัด ทล./ทช./ขบ. ลงพื้นที่สุ่มตรวจสถานีตรวจสอบน้ำหนัก ป้องกันสติกเกอร์ส่วยบรรทุก พร้อมเร่งติดตั้งระบบ WIM ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
นายมนตรี เดชาสกุลสม ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการติดสินบนเจ้าหน้าที่โดยการติดสติกเกอร์บนรถบรรทุก ครั้งที่ 2/2566 ในวันที่ 12 มิ.ย.2566 ณ ห้องประชุมกระทรวงคมนาคม
นายมนตรี เปิดเผยว่า นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการติดสินบนเจ้าหน้าที่โดยการติดสติกเกอร์บนรถบรรทุก ได้ให้คณะทำงานฯ ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวอย่างเต็มที่ และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย จากการลงพื้นที่สถานีตรวจสอบน้ำหนักอยุธยา (ขาเข้า) เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2566 นั้น พบว่า ระบบการทำงานที่ใช้ WIM หรือ ระบบเครื่องชั่งอัตโนมัติสำหรับชั่งน้ำหนักรถยนต์ขณะเคลื่อนที่ ช่วยคัดกรองรถบรรทุกที่มีน้ำหนักไม่เกินกฎหมายกำหนด สามารถวิ่งผ่านได้โดยไม่ต้องเข้าชั่งที่สถานี ส่วนในกรณีที่มีน้ำหนักใกล้เคียงหรือมากกว่า ที่กฎหมายกำหนดให้รถบรรทุกเข้าชั่งที่สถานี
ทั้งนี้ เป็นการนำเทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการ ลดปัญหาการจราจรแออัดที่หน้าสถานี ลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ป้องกันความผิดพลาดอันเกิดจากการปฏิบัติงาน (Human Error) เพื่อความโปร่งใสทุกขั้นตอน สร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการและประชาชน ในวันที่ลงพื้นที่ดังกล่าว สามารถจับกุมผู้ฝ่าฝืนได้ 2 ราย โดยขณะนี้คณะทำงานฯ อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งลักษณะ รูปแบบ พฤติการณ์ในรายละเอียดก่อนรายงานผลการดำเนินงานให้คณะกรรมการฯ ทราบ สำหรับการประชุมในวันนี้ ที่ประชุมได้มีมติดังนี้
1.การพิจารณาแนวทางตรวจสอบสถานีตรวจสอบน้ำหนักรถบรรทุกในพื้นที่อื่น ๆ โดยที่ประชุมมีมติให้คณะทำงานฯ กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) และ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ลงพื้นที่สุ่มตรวจสถานีที่เหลือ และรายงานผลให้คณะทำงานฯ ทราบ เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาประมวลผลเสนอคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณามอบหมายแนวทางการดำเนินงานต่อไป
2.ให้ ทล. พิจารณาเร่งรัดดำเนินการติดตั้งระบบ WIM ให้ครอบคลุมทุกสถานีตรวจสอบน้ำหนักทั่วประเทศ และให้ ทช. พิจารณาก่อสร้างสถานีตรวจสอบน้ำหนักให้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบัน ทช. มีสถานีตรวจสอบน้ำหนักเพียง 5 แห่ง เท่านั้น
3.ให้ ทล. ทช. พิจารณาบริหารจัดการหน่วย Spot Check ให้มีจำนวนที่เหมาะสม พอเพียง และลงพื้นที่ตรวจสอบสายทางที่ไม่มีสถานีตรวจสอบน้ำหนัก แต่เป็นสายทางที่รถบรรทุกวิ่งผ่านหรือเจตนาหลีกเลี่ยง
4.ให้ ทล. ทช. พิจารณากำหนดมาตรการขั้นตอนการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ในกรณีรถบรรทุกที่ฝ่าฝืนไม่วิ่งเข้าชั่งน้ำหนักสถานีตรวจสอบน้ำหนัก โดยจัดทำเป็นแผนภูมิให้เข้าใจง่าย และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในหน่วยงานต่อไป
5.ประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนเกี่ยวกับส่วยสติกเกอร์บนรถบรรทุก ได้ที่เว็บไซต์กระทรวงคมนาคม www.mot.go.th และสายด่วนศูนย์ปลอดภัยคมนาคม โทร. 1356 เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดต่อไป
กระทรวงฯ ขอยืนยันว่าจะดำเนินการทุกขั้นตอนและตรวจสอบทุกประเด็นด้วยความโปร่งใส ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อเท็จจริงและเชื่อมั่นในการดำเนินการของกระทรวงฯ และหากรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวพบว่าหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้อง กระทรวงฯ จะดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายโดยไม่มีข้อยกเว้นต่อไป