“ทางหลวงชนบท” พร้อมรับมือน้ำท่วมเต็มที่
“กรมทางหลวงชนบท” ติดตามสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝนอย่างใกล้ชิด พร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์และดูแลอำนวยความสะดวกให้ประชาชนใช้เส้นทางได้อย่างปลอดภัย
กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ระบุว่า ติดตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ซึ่งจากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ว่าในช่วงเดือน ส.ค.2566 บริเวณประเทศไทยจะมีฝนตกชุกหนาแน่นเพิ่มขึ้นอีก โดยส่วนใหญ่จะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ ให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลและพื้นที่ลุ่ม
โดยอธิบดีกรมทางหลวงชนบทได้มีความห่วงใยประชาชนที่ใช้เส้นทางในการสัญจร จึงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานในส่วนภูมิภาค ซึ่งประกอบด้วยสำนักงานทางหลวงชนบท แขวงทางหลวงชนบท หมวดบำรุงทางหลวงชนบท ติดตามรายงานสถานการณ์และลงพื้นที่ดูแลเส้นทางจราจรให้กับประชาชน เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือประชาชนได้ทันที ซึ่งได้กำหนดแนวทางการเตรียมความพร้อมรับมือเป็น 3 ระยะ ดังนี้
1.ก่อนเกิดเหตุ
– ทำความสะอาดช่องระบายน้ำ ตัดหญ้า กำจัดวัชพืชที่ขวางทางระบายน้ำ ท่อลอด สะพาน
– เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร เครื่องมือ เครื่องจักร วัสดุอุปกรณ์ สะพานเบลีย์ สนับสนุนยานพาหนะ อุปกรณ์การขนส่ง พร้อมสนับสนุนการอพยพเคลื่อนย้ายประชาชนออกจากพื้นที่ประสบภัยหรือพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดเหตุอุทกภัย เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัย
– จัดเตรียมป้ายเตือน ป้ายแนะนำเส้นทาง หลักนำทาง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน กรณีน้ำท่วมสูง ถนนหรือสะพานขาด ไม่สามารถสัญจรไปมาได้
– ตัดแต่งกิ่งไม้ในเขตทางหลวงชนบท เพื่อป้องกันกิ่งไม้ตกหล่น หักโค่น เมื่อเกิดพายุ หรือ ลมพัดรุนแรง
2.ขณะเกิดภัย
– บริหารจัดการเส้นทางและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน กรณีเส้นทางผ่านไม่ได้ ให้จัดหาทางเลี่ยงพร้อมทั้งประสานกับหน่วยงานของจังหวัดในการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ทันที เมื่อได้รับการร้องขอ
– กรณีถนนหรือสะพานขาด ให้ดำเนินการซ่อมแซมเบื้องต้นให้ประชาชนสามารถใช้เส้นทางสัญจรไปมาได้ชั่วคราว เช่น วางสะพานเบลีย์ถมดินคอสะพาน ถมวัสดุคอสะพานฯ
– รายงานข้อมูลสายทางที่ประสบภัยพิบัติพร้อมภาพถ่ายผ่านระบบบริหารจัดการงานอุทกภัยกรมทางหลวงชนบท (FMS) และปรับปรุงข้อมูลจนกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ
– กรณีต้นไม้หักโค่น ปิดทับหรือกีดขวางเส้นทาง ให้รีบนำเครื่องมือเครื่องจักรเข้าดำเนินการทันทีเพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจรผ่านได้
– เสนอโครงการที่ประสบอุทกภัยต่อที่ประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติของแต่ละจังหวัด
– เข้าพื้นที่สำรวจความเสียหายประมาณการค่าซ่อมแซมเบื้องต้น และเตรียมเข้าซ่อมทันที เมื่อเข้าสู่ภาวะปกติให้สามารถเปิดการจราจรชั่วคราวได้
– หน่วยงานในพื้นที่ประสานกับหน่วยงานราชการต่าง ๆ รวมถึงหน่วยงานทหารในพื้นที่ เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการช่วยเหลือประชาชน ตลอดจนรายงานข้อมูลสายทางที่ประสบอุทกภัยให้ผู้บริหารได้รับทราบจนกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ
3.หลังเกิดภัย
– หลังจากเข้าสู่ภาวะปกติ ให้ดำเนินการซ่อมแซมเบื้องต้น เพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจรไปมาได้ภายใน 7 วัน และดำเนินการสำรวจ ออกแบบ ประมาณราคา พร้อมภาพถ่ายสภาพความเสียหายหลังน้ำลด เพื่อขอสนับสนุนงบประมาณในการฟื้นฟูต่อไป
ทช. จะติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ทุกพื้นที่ทั่วประเทศอย่างใกล้ชิด พร้อมเน้นย้ำหน่วยงานในพื้นที่ ให้ปฏิบัติตามมาตรการรับมืออุทกภัย ตลอดจนจัดเจ้าหน้าที่พร้อมเครื่องจักร อุปกรณ์ เข้าประจำจุดพื้นที่เสี่ยงไว้ล่วงหน้าเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือประชาชนได้ในทันที รวมถึงขอความร่วมมือประชาชนโปรดระมัดระวังในการใช้รถใช้ถนนเป็นพิเศษ และโปรดสังเกตป้ายเตือน
ทั้งนี้ประชาชนสามารถแจ้งเหตุได้ที่สำนักงานทางหลวงชนบท และแขวงทางหลวงชนบทในพื้นที่ หรือสายด่วน กรมทางหลวงชนบท 1146